วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ตั้งข้อหามาร์ค-เทือก คดีฆ่า99ศพ

ตั้งข้อหามาร์ค-เทือก คดีฆ่า99ศพ

ธาริตชี้ผลคำสั่ง ตามศาลไต่สวน ยิง'พัน คำกอง' เรียก2ผู้ต้องหา มาให้การ12ธค.



กระหึ่มโลก - สำนักข่าวต่างประเทศชื่อดังตีข่าวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯตกเป็นผู้ต้องหาคดีฆ่าจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนพ.ค.2553 จนมีผู้เสียชีวิตถึง 99 ศพ
แจ้งข้อหา 'มาร์ค-เทือก' คดี 99 ศพ ฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล'ธาริต' แถลงเป็นผลสืบเนื่องจากคำสั่งของศาล คดี 'พัน คำกอง' ตายด้วยกระสุนปืนเจ้าหน้าที่ตามคำสั่ง 'ศอฉ.' มีพยานหลักฐานยืนยันการสั่งใช้อาวุธปืน พลซุ่มยิง ออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรจาก 'ผอ.ศอฉ.' ที่เกิดจากการสั่งการของ นายกฯ ในขณะนั้น ชี้การสั่งการของทั้งคู่ กระทำต่อเนื่องหลายครั้ง แม้เกิดการสูญเสียชีวิตของประชาชน ก็ไม่ระงับยับยั้ง หรือใช้แนวทางอื่นแทน บ่งชี้ได้ว่าเจตนาเล็งเห็นผล นัด 12 ธ.ค. ให้ 2 ผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหา ด้านโฆษกปชป.โวยคุกคาม อ้างอีกเรื่องการเมือง ยันทั้งคู่พร้อมสู้ตามกระบวนการยุติธรรม ไม่ถอยหนี ส่วนทีมกฎหมายปชป.ขู่เอาผิดธาริตและพนักงานสอบสวน

'มาร์ค-เทือก'โดนแล้ว-ข้อหาฆ่า 

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 6 ธ.ค. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชนและ เจ้าหน้าที่รัฐ จำนวน 99 ศพ ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 เป็นประธานประชุมคณะพนักงานสอบสวน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย อัยการ ตำรวจ และดีเอสไอ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พนักงานสอบสวนทั้ง 3 ฝ่าย ประชุมหารือกันเป็นเวลานาน 1 ชั่วโมง ก่อนมีมติให้แจ้งข้อหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีตผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 83, 84, และ มาตรา 288 ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15-20 ปี

'ธาริต'แถลงยันหลักฐานมัด

จากนั้นนายธาริตแถลงผลการประชุมว่า สืบเนื่องจากศาลยุติธรรมมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ในคดีการไต่สวนเหตุการณ์ตายของนายพัน คำกอง ว่าการตายของนายพันเกิดจากกระสุนปืนของทหารที่เข้าปฏิบัติการตามคำสั่งของศอฉ. และศาลส่งสำนวนการพิจารณาไต่สวนทั้งหมดพร้อมคำสั่งมายังบช.น. และดีเอสไอ ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนจำเป็นต้องยึดถือเอาข้อเท็จจริงอันเป็นยุติโดยการไต่สวนของศาล

นายธาริตกล่าวว่า พยานหลักฐานอันสำคัญที่ทำให้คณะพนักงานสอบสวนทั้ง 3 ฝ่าย ต้องมีมติให้แจ้งข้อหาแก่บุคคลทั้ง 2 คน มาจากพยานที่ได้จากการไต่สวน และคำสั่งของศาล รวมทั้งพยานหลักฐานที่สอบสวนเพิ่มเติม เช่น การสั่งใช้กำลังทหารที่มีอาวุธปืนเข้าปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยที่ศอฉ.เรียกว่ากระชับพื้นที่ และขอคืนพื้นที่ การสั่งใช้อาวุธปืน การสั่งใช้พลซุ่มยิง และอื่นๆ โดยออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ. และอ้างไว้ในคำสั่งด้วยว่า เกิดจากการสั่งการของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี อย่างชัดเจน สอดคล้องกับพยานบุคคลที่ร่วมอยู่ในศอฉ.ว่านายอภิสิทธิ์ฯ ในฐานะนายกฯ ได้รับรู้ร่วมสั่งการ และพักอาศัยอยู่ในศูนย์ปฏิบัติการของศอฉ.ตลอดเวลา

ชี้สั่งการเจตนาเล็งเห็นผลตาย 

"ประการสำคัญคือ การสั่งการของบุคคลทั้ง สองกระทำอย่างต่อเนื่องหลายครั้งหลายครา แม้เกิดการสูญเสียชีวิตของประชาชน แล้วก็หาได้ระงับยับยั้ง หรือใช้แนวทางอื่นใดแทน รวมถึงพยานแวดล้อมกรณีอื่นๆ อีก จึงเป็นการบ่งชี้ได้ว่าเป็นเจตนาเล็งเห็นผลได้ว่าการร่วมกันสั่งการเช่นนั้น ย่อมทำให้เกิดการตายของประชาชนจำนวนมาก และต่อเนื่องหลายวัน" หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดี 99 ศพ กล่าว

อธิบดีดีเอสไอกล่าวอีกว่า คดีเช่นนี้ถือเป็นคดีที่สำคัญของสังคม เพราะการตายเกิดจากการ กระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ กฎหมายจึงบัญญัติไว้เป็นกรณีพิเศษ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ที่ต้องมีการไต่สวนเหตุการณ์ตายโดยศาลยุติธรรม เพื่อให้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติโดยเป็นธรรมจากการสืบพยานไต่สวนโดยศาล ที่พิจารณาโดยเปิดเผย ทุกฝ่ายสามารถนำพยานหลักฐานเข้ามาสืบได้ แล้วในที่สุดศาลก็จะมีคำสั่งว่าผู้ตายเป็นใคร ใครทำให้ตาย และมีพฤติการณ์ หรือสาเหตุอย่างไร ในคดีนี้ศาลก็มีคำสั่งครบถ้วน หน้าที่ของพนักงานสอบสวนจึงต้องดำเนินการต่อ ตามผลของการไต่สวนและคำสั่งของศาล อาจกล่าวโดยง่ายๆ ว่าต้องดำเนินการตามข้อเท็จจริงที่ได้ยุติชั้นศาลแล้วนั้นเอง

นัด 12 ธ.ค.มารับทราบข้อหา 

นายธาริตกล่าวต่อว่า คดีนี้ศาลสั่งว่าเหตุการตายเกิดจากกระสุนปืนของฝ่ายทหารที่เข้าปฏิบัติการตามคำสั่งของศอฉ. พนักงานสอบสวนก็ต้องมาต่อยอดว่าผู้มีอำนาจสั่งการของศอฉ. ที่เป็นต้นเหตุของการสั่งการจนมีการตายเกิดขึ้นเป็นใคร และมีรายละเอียดพร้อมพยานหลักฐานว่าได้กระทำผิดเช่นใด ส่วนทหารที่เข้าปฏิบัติการนั้น ศาลไม่ได้ระบุว่าเป็นผู้ใด และโดยผลการสอบ สวนก็ไม่อาจระบุตัวตนได้ด้วย แต่ก็ได้รับผลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 70 ว่าเมื่อเป็นการปฏิบัติตามการสั่งการ ซึ่งเชื่อว่าต้องปฏิบัติก็ย่อมได้รับการคุ้มครองโดยไม่ต้องรับโทษ ดังนั้น ในชั้นนี้จึงไม่แจ้งข้อหาแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร

อธิบดีดีเอสไอกล่าวว่า เมื่อสิ้นสุดการประชุมคณะพนักงานสอบสวน ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนก็ลงนามในหนังสือแจ้งให้บุคคลทั้งสอง คือ นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ มารับทราบข้อหาในวันที่ 12 ธ.ค. เวลา 14.00 น. เมื่อบุคคลทั้งสองเข้าพบพนักงานสอบสวน เพื่อรับทราบข้อหาและสอบสวนเสร็จ ก็จะใช้ดุลพินิจปล่อยตัวไปโดยไม่ขอศาลให้ฝากขัง เนื่องจากบุคคลทั้งสองเป็นอดีตข้าราชการฝ่ายการเมืองชั้นผู้ใหญ่ จึงใช้การออกหนังสือเชิญแทนการออกหมายเรียก การเชิญนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพมาแจ้งข้อหาในช่วงนี้ ก็เพื่อจะได้นำตัวเข้ามาในคดี อันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดี เพราะหากพ้นวันที่ 20 ธ.ค. ไปแล้ว บุคคลทั้งสองจะได้รับเอกสิทธิ์ส.ส.คุ้มครองตามกฎหมายทันที เนื่องจากเปิดประชุมสภา และเชื่อว่าบุคคลทั้งสองจะมาตามนัด โดยไม่ถ่วงเวลาจนเปิดประชุมสภา ในวันที่ 21 ธ.ค.

ย้ำดำเนินคดี 2 ฝ่ายเท่ากัน

"การสืบสวนสอบสวนคดีนี้ ดีเอสไอไม่ได้ทำคดีตามกระแส หรือใบสั่งของฝ่ายการเมือง เพราะเป็นเรื่องใหญ่มาก คดีทุกคดีต้องไปจบที่ศาล พนักงานสอบสวนไม่อาจกลั่นแกล้งใคร หรือช่วยเหลือใครได้ การสอบสวนก็ร่วมกันถึง 3 ฝ่ายประกอบด้วย ตำรวจ อัยการ และดีเอสไอ ทุกคดีจึงเป็นไปตามข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ที่สำคัญเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นมีผู้เข้าข่ายกระทำผิดทั้ง 2 ฝ่าย จนถึงขณะนี้กลุ่มฮาร์ดคอร์ของผู้ชุมนุมได้ถูกดำเนินคดี ฟ้องคดีต่อศาลไปแล้วถึง 62 คดี มีผู้ถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลถึง 295 คน" นายธาริตกล่าว

ตั้งข้อหา - นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ แถลงตั้งข้อหาฆ่ากับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตผอ.ศอฉ. ในคดีการตายของนายพัน คำกอง (ภาพเล็ก) ที่ศาลชี้ว่าเสียชีวิตจากปืนเจ้าหน้าที่รัฐ


หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดี 99 ศพ กล่าวอีกว่า ส่วนกลุ่มผู้สั่งการของศอฉ.เพิ่งจะถูกดำเนินคดีนี้เป็นคดีแรก ซึ่งความจริงก็ดำเนินการมาแต่แรกคู่ขนานกัน แต่คดีของกลุ่มผู้สั่งการของศอฉ. ต้องรอการไต่สวนของศาลก่อน จึงดูล่าช้า ทั้งที่ ดีเอสไอได้ดำเนินคดีทั้ง 2 ฝ่ายเท่าเทียมกัน และก็เป็นธรรมชาติที่ผู้ถูกดำเนินคดี หรือผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาทุกฝ่ายจะต้องไม่ชอบใจดีเอสไอ มีการต่อว่าต่างๆ นานา ดีเอสไอเองก็พร้อมรับ เพราะถือว่าทำตามหน้าที่ในฐานะหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย

ใช้พลซุ่มยิง-เข้าข่ายเล็งเห็นผล

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีในช่วงเหตุการณ์เดือนเม.ย.2553 ที่นายธาริตให้ความเห็นว่าเห็นด้วยกับการที่ศอฉ.ดำเนินการให้เกิดความเรียบร้อยในบ้านเมือง นายธาริตกล่าวว่า มีความเห็นเช่นนั้นจริง แต่ไม่ใช่ให้ใช้อาวุธหรือสั่งยิง ตลอดจนให้มีพลซุ่มยิง หรือเห็นว่ามีคนตายไม่ผิด

ต่อข้อถามว่าชุดสอบสวนแจ้งข้อหาอดีต นายกฯ อภิสิทธิ์ หมายความว่านายกฯ ไม่มีอำนาจระงับเหตุไม่สงบในบ้านเมืองใช่หรือไม่ แต่หากไม่ดำเนินการใดๆ จะเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่อีก นายธาริตกล่าวว่าการฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เนื่องมาจากการเป็นผู้สั่งการใช้อำนาจ โดยเล็งเห็นผลตามมาตรา 59 ทำอย่างต่อเนื่องหลายวันหลายครั้ง รวมทั้งอนุมัติให้มีพลซุ่มยิง เป็นการก่อให้เกิดผลมีผู้เสียชีวิต

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ในช่วงเช้า นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ เข้าให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนคดี 99 ศพ เนื่องจากนายสาธิตเป็น 1 ใน 13 คน ที่เข้าร่วม ประชุมครม.นัดพิเศษ ในกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2553 ก่อนจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่นายสาธิตไม่ได้ให้การเกี่ยวกับรายละเอียดในการประชุมครม.ดังกล่าว

ปชป.โต้-อ้างการเมืองคุกคาม 

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีพนักงานสอบสวนคดี 99 ศพ แจ้งข้อหาและออกหมายเรียกนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐในทางที่ผิดเพื่อคุกคามฝ่ายตรงข้าม ไม่แปลกใจที่ดีเอสไอต้องเร่งรีบ เพราะมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองอย่างแน่นอน พยายามทำเรื่องนี้ในช่วงปิดสมัยประชุมสภา เนื่องจากไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครอง จึงอยากเตือนนายธาริตว่า เรื่องนี้สังคมเห็นชัดเจนแล้วว่ามีความจงใจตั้งข้อหา ทั้งในแง่การสืบสวนสอบสวนที่ตั้งธงเอาผิดผู้ออกคำสั่งในนามศอฉ.

นายชวนนท์กล่าวว่า ขอยืนยันว่าไม่มีคำสั่งของศอฉ.ฉบับไหน ที่สั่งให้ทหารใช้ความรุนแรงกับประชาชน หรือสั่งให้ทหารฆ่าประชาชน มีแต่เพียงคำสั่งที่ให้ทหารออกไปรักษาความสงบเรียบร้อยจากกลุ่มผู้ก่อการร้าย หรือชายชุดดำ ดังนั้นจึงตีความว่าเป็นการเล็งเห็นผลไม่ได้ ขอยืนยันว่าบุคคลทั้งสองพร้อมต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม ไม่ถอยหนีไปไหน และพร้อมพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ว่าไม่เคยใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขต หรือสั่งให้ทหารทำร้ายประชาชน ดังนั้น เรื่องนี้ผู้ที่ออกคำสั่ง หรือตั้งข้อหาโดยมิชอบจะต้องรับผิดชอบ

รีบตั้งข้อหา-บิดข้อเท็จจริง 

ส่วนนายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษก และทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอยืนยันว่านายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกตั้งข้อหา ถือเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและคำสั่งศาลเพียงเพื่อนำไปสู่การตั้งข้อหาเท่านั้น และพฤติกรรมของดีเอสไอ ที่เร่งรีบตั้งข้อหานายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ไม่ใช่สิ่งที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย เพราะการทำงานของดีเอสไอ กำหนดธงไว้แล้วว่าจะต้องตั้งข้อหากับนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพให้จงได้ เพื่อให้ทันเปิดสมัยประชุมนิติบัญญัติ แล้วเอานายอภิสิทธิ์และนาย สุเทพ เป็นตัวประกัน เพื่อสร้างเงื่อนไขนำไปสู่การออกกฎหมายปรองดอง หรือกฎหมายล้างผิด

"วันนี้จึงได้แสดงออกชัดเจน เมื่อเปิดฉากกันแบบนี้ ก็ต้องสู้กันตามกระบวนการของกฎหมาย ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย และเชื่อว่าความถูกต้องยังคงมีอยู่ในบ้านเมือง และดีเอสไอตั้งแต่อธิบดีจนถึงพนักงานสอบสวน ก็จะต้องยอมรับผลในทางกฎหมายที่จะเกิดขึ้นเช่นกัน อย่าคิดว่าถือกฎหมายแล้วจะทำอะไรก็ได้ ระวังจะคืนสนองกลับไปหาตัวเอง" ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์กล่าว

ศาลชี้เปิดสภา-ปล่อยก่อแก้ว 

วันเดียวกัน ที่ศาลอาญา นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวถึงกรณีการปล่อยตัวชั่วคราวนายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ช่วงเปิดสมัยประชุมสภานิติบัญญัติในวันที่ 21 ธ.ค. ที่จะถึงว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 131 ระบุว่าในระหว่างสมัยประชุม ห้ามมิให้จับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัว ส.ส. หรือส.ว. ไปสอบสวนในฐานะที่สมาชิกผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา และในวรรค 5 ของมาตรานี้ ยังระบุว่าถ้า ส.ส. หรือ ส.ว. ถูกคุมขังระหว่างสอบสวน หรือพิจารณาเมื่อถึงสมัยประชุมต้องสั่งปล่อยทันที หลังจากมีคำร้องขอจากประธานสภา

อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวว่า หมายความว่าการที่ศาลจะปล่อยตัวนายก่อแก้วได้ ต้องมีหนังสือแจ้งจากประธานสภามายังศาลอาญา ถึงจะออกหมายปล่อยตัวชั่วคราวได้ แต่ในกรณีที่ไม่มีหนังสือแจ้งมา ศาลจะยังมีอำนาจคุมขังนายก่อแก้วจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายพิจารณาคดีความอาญาต่อไป อย่างไรก็ตาม ถ้ามีหนังสือจากประธานสภาแจ้งมา ศาลอาญาก็จะต้องออกหมายปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อให้จำเลยไปใช้สิทธิ์ในสภา แต่ถ้าถึงวันปิดสมัยประชุมสภา นายก่อแก้วจำเลยจะต้องมารายงานตัวที่ศาล เพื่อให้ศาลออกหมายขังอีกครั้ง มิฉะนั้นศาลจะออกหมายจับ

ทนายเล็ง 2 แนวทางยื่นประกัน

ด้านนายเจษฎา จันทร์ดี ทนายความของนายก่อแก้วกล่าวว่า เข้าหารือนายก่อแก้วถึงสาเหตุที่ศาลยกคำร้องการขอปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่ผ่านมา และหารือถึงแนวทางในการยื่นขอประกันตัวว่า เบื้องต้นได้เตรียมไว้ 2 แนวทาง คือ ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้ง และยื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อขอให้ศาลไต่สวนเท็จจริง ว่าจำเลยไม่มีเจตนาในการกระทำผิดเงื่อนไขของศาล ในการพูดข่มขู่ คุกคาม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบกับจำเลย เป็นส.ส.มีภารกิจหน้าที่ที่ต้องสะสาง แม้จะอยู่ระหว่างปิดสมัยประชุมสภาก็ตาม

ทนายความนายก่อแก้วกล่าวต่อว่า ส่วนจะใช้แนวทางเดียวกับนายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก ที่ยื่นคำร้องขอความเมตตาต่อศาล และลงข้อความขอโทษตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในหนังสือพิมพ์ หรือไม่นั้น คงไม่ใช่ เนื่องจากมีลักษณะการกระทำผิดต่างกัน คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจนว่าจะใช้แนวทางใด


ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ 
poppulanews

1 ความคิดเห็น: