วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2555

′′แอโรบิกมวยไทย-คีตะมวยไทย′′


′′แอโรบิกมวยไทย-คีตะมวยไทย′′ ใส่จังหวะแอโรบิก เต้นท่าไหว้ครูมวย

วันที่ 02 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 15:30:01 น.
  


เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม นายวีระ กัจฉปคีรินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันอนุรักษ์ศิลปะมวยไทย กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ปัจจุบันเยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยให้ความสนใจในศิลปะวัฒนธรรมไทยมากนัก โดยเฉพาะศิลปะป้องกันตัว เช่น มวยไทย ซึ่งมีท่าไหว้ครูในรูปแบบต่างๆ ที่สวยงาม แต่ไม่ใช่เป็นแค่ศิลปะป้องกันตัว แต่ถือเป็นการออกกำลังกายแนวหนึ่งที่ส่งเสริมบุคลิกภาพ ทำให้ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพที่ดี แต่เยาวชนกลับไม่ค่อยนิยม หันไปนิยมการเล่นศิลปะการป้องกันตัวของต่างชาติ อาทิ คาราเต้ ยูโด ฯลฯ แทน ล่าสุดสถาบันอนุรักษ์ศิลปะมวยไทย จึงได้สนับสนุนให้เยาวชน รวมถึงประชาชนทั่วไปหันมาสนใจศิลปะมวยไทย โดยส่งเสริมการออกกำลังกายผสมผสานด้วยท่ามวยไทย

"ขณะนี้ได้มีการประยุกต์ดัดแปลงใช้ทักษะมวยไทย ประกอบด้วย หมัด เท้า เข่า ศอก ถีบ และศิลปะการไหว้ครูมาใช้ประกอบกับเสียงเพลง โดยการนำจังหวะของแอโรบิกมาผสมผสานเป็นท่าเต้น เรียกว่า แอโรบิกมวยไทย หรือคีตะมวยไทย สามารถเล่นได้ทุกเพศทุกวัย ไม่ส่งผลเสียหายต่อร่างกาย เหมือนการเล่นแอโรบิกทั่วไป ที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง เลือดไหลเวียนดี ยกเว้นในกลุ่มผู้สูงอายุ แนะนำให้ใช้ท่าไหว้ครูเพื่ออบอุ่นร่างกาย (วอร์ม) ยืดเส้นยืดกล้ามเนื้อ" นายวีระ กล่าว และว่า ขณะนี้มีท่าไหว้ครูประมาณ 12 ท่า แต่ที่นิยมมีประมาณ 3-4 ท่า ได้แก่ ท่าพรหมสี่หน้า ท่าเทพพนม ท่ายูงฟ้อนหาง ท่านารายณ์ขว้างจักร

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัจจุบันต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น มีการนำท่าไหว้ครูมวยไทยไปประยุกต์ใช้ออกกำลังกาย นายวีระกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ทราบว่า เป็นการประยุกต์ลักษณะใด แต่ในส่วนของประเทศไทยนั้น มีการส่งเสริมมาตลอด โดยสถาบันอนุรักษ์ศิลปะมวยไทยส่งเสริมด้วยการเปิดสอนฟรีให้แก่เด็ก เยาวชน หรือประชาชนทั่วไป แบ่งเป็นการสอนแม่ไม้มวยไทย การออกกำลังด้วยท่าไหว้ครู การเต้นแอโรบิกมวยไทย ซึ่งในแต่ละปีมีผู้สนใจประมาณ 1,000 คน เรียนวันละ 30-40 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติประมาณ 4-5 คน ดังนั้น หากผู้ใดสนใจติดต่อได้ที่สนามกีฬาแห่งชาติ พระราม 1 หรือโทร.0-2214-0127, 0-2214-0129, 0-2214-0132

ด้าน นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงท่าไหว้ครูมวยไทยว่า ถือเป็นการเคลื่อนไหวช้าๆ เบาๆ มีจุดมุ่งหมายเพื่อการอบอุ่นร่างกาย การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ และการฝึกความนิ่ง สามารถนำมาใช้ในลักษณะการออกกำลังกายได้ทุกท่า ซึ่งจะพบว่าการร่ายรำไหว้ครูมวยไทย มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 นาที ก่อนการชกมวย หากนำมาใช้เพื่อส่งเสริมในรูปแบบของการออกกำลังกายจะมีความคล้ายคลึงกับการรำชี่กง และการฝึกโยคะ

นพ.เจษฎากล่าวอีกว่า หากจะใช้ท่าไหว้ครูเพื่อส่งเสริมสุขภาพ แนะนำว่าควรฝึกต่อเนื่องแต่ละครั้งไม่น้อยกว่า 30 นาที และไม่น้อยกว่า 5 วันต่อสัปดาห์ ตัวอย่างเช่น ท่าพรหมสี่หน้า จะเริ่มด้วยการนั่งคุกเข่า 2 ข้างลงกับพื้น ทำมุมกาง 90 องศา นั่งทับส้นเท้า จากนั้นยกมือพนมระหว่างคิ้ว และเลื่อนมาบริเวณอก แยกมือออก เหยียดตรงไปข้างๆ ตัว แล้วโน้มตัวไปข้างหน้า วกมือทั้งสองบรรจบกันข้างหน้า คว่ำแตะพื้น ศีรษะก้มลงในท่ากราบ แล้วผงกศีรษะทรงตัวตรงตามเดิม ต่อมาจะเป็นการเหยียดเท้าขวาออก เป็นท่าชันเข่ายืน แขนขวาออกแรงแตะเข่าขวา

"จังหวะนี้เป็นท่าเตรียมยืน ซึ่งท่านี้จะช่วยยืดข้อต่อต่างๆ ทั้งข้อไหล่ ข้อศอก และข้อสะโพกด้านหน้า กล้ามเนื้อ ต้นขาด้านหน้าด้านหลัง และน่อง รวมไปถึงกระตุ้นระบบหายใจ และการไหลเวียนเลือด ในท่าพรหมสี่หน้า ยังมีจังหวะยืนไหว้เทพนิมิตร ซึ่งต่อจากท่านั่ง โดยใช้มือขวาแตะเข่าขวา ยืนตรงขึ้นพร้อมด้วยหมัดซ้ายยกขึ้นระดับเสมอ อก ประชิดเท้าซ้ายชึ้นเสมอเท้าขวา เป็นท่ายืนหันหน้าไปทางคู่ต่อสู้ ท่านี้ก็ช่วยในการยืดเหยียดเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่ท่าไหว้ครูจะเน้นการยืดเหยียด จึงเหมาะกับคนทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เนื่องจากไม่อันตราย และไม่ได้ใช้แรงในการออกกำลังกายมากนัก" นพ.เจษฎากล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น