วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

สีสันแห่งสายน้ำ


สีสันแห่งสายน้ำ

วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 13:29:53 น.
  

คอลัมน์ เพลินอุรา โดย เรวดี พงศ์ไชยยง 


ใกล้เทศกาลลอยกระทงเข้าไปทุกที ปีนี้ใครยังเลือกไม่ถูกว่าจะไปลอยกระทงที่ไหน ขอแนะนำงาน "เทศกาลสีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง" ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-30 พฤศจิกายนนี้ ที่ 8 พื้นที่หลักทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ สุโขทัย ตาก เชียงใหม่ อยุธยา สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี และสงขลา ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจแตกต่างกันไป

นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการภาพถ่าย ที่เผยแพร่ความสวยงามของบรรยากาศในเทศกาลลอยกระทงของแต่ละพื้นที่ ระหว่างวันที่ 24-28 พฤศจิกายน ที่เอเชียทีค เดอะริเวอร์ ฟร้อนท์ ซึ่งเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติได้ชื่นชมความหลากหลายและรับรู้ถึงความสำคัญของงานลอยกระทง ที่เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทยด้วย

ประเพณีลอยกระทง เป็นประเพณีของไทยที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่สมัยสุโขทัย นิยมลอยกระทงในวันเพ็ญเดือน 12 เพื่อขอขมาต่อพระแม่คงคา

บางหลักฐานเชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานทีและบางหลักฐานก็ว่าเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์หรือพระมหาสาวก

สำหรับประเทศไทย มีการจัดประเพณีนี้ขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

ลอยกระทงรัตนโกสินทร์ ปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) กล่าวไว้ว่า "ครั้นมาถึงเดือน 12 ขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ แรมค่ำหนึ่งพิธีจองเปรียงนั้น เดิมได้โปรดให้ขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์ ฝ่ายหน้า ฝ่ายใน และข้าราชการที่มีกำลังพาหนะมาทำกระทงใหญ่ ผู้ถูกเกณฑ์ต่อเป็นถังบ้าง ทำเป็นแพหยวกบ้าง ทำประกวดประขันกันต่างๆ

ทำอย่างเขาพระสุเมรุทวีปทั้ง 4 บ้าง และทำเป็นกระจาดชั้นๆ บ้าง วิจิตรไปด้วยเครื่องสด คนทำก็นับร้อย คิดในการลงทุนทำกระทงทั้งค่าเลี้ยงคนและพระช่าง

การทำกระทงใหญ่ในลักษณะดังกล่าวนี้ น่าจะมาแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 3 ครั้นมาถึงรัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลือง จึงโปรดให้ยกเลิกเสีย และโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ ทำเรือลอยประทีป แทนกระทงใหญ่ถวายองค์ละลำ เรียกว่า "เรือลอยประทีป"

ส่วนประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ เป็นประเพณีบูชาด้วยประทีปที่มีมาแต่งครั้งกรุงสุโขทัย ตามที่ปรากฏหลักฐานในหลักศิลาจารึก พ่อขุนรามคำแหงหลักที่ 1 และในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือตำนานนางนพมาศ ซึ่งเป็นพระสนมเอกของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) แห่งกรุงสุโขทัย ได้กล่าวถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองว่า เป็นเวลาเสด็จประพาสลำน้ำตามพระราชพิธี ในเวลากลางคืนและได้มีรับสั่งให้บรรดาพระสนมนางในทั้งหลายตกแต่งกระทงประดับดอกไม้ ธูปเทียนนำไปลอยน้ำหน้าพระที่นั่ง

ในคราวนั้นท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือนางนพมาศพระสนมเอก ได้คิดประดิษฐ์กระทงเป็นรูปดอกบัวโกมุทขึ้น ด้วยเห็นว่าเป็นดอกบัวพิเศษที่บานในเวลากลางคืน เพียงปีละครั้งในวันดังกล่าว สมควรทำเป็นกระทงแต่งประทีปลอยไปถวายสักการะรอยพระพุทธบาท เมื่อพระร่วงเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นก็รับสั่งถามถึงความหมาย นางก็ได้ทูลอธิบาย จนเป็นที่พอพระราชหฤทัย

นอกจากประวัติความเป็นมาของประเพณีที่รู้จักกันไปทั่วโลกแล้ว ยังมีข้อมูลการจัดงานของแต่ละจังหวัดให้เลือกชมเลือกพิจารณา

อาทิ งานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประจำปี 2555 จ.ตาก ชื่นชมการลอยประทีป ชมกระทงนำ กระทงกะลา กระทงปิดท้ายของกระทงทุกสายที่ส่งเข้าประกวด

งานประเพณียี่เป็ง จ.เชียงใหม่ ที่มีประกวดโคมบูชาและนิทรรศการโคมบูชา การแสดงพื้นบ้าน ศิลปวัฒนธรรมล้านนา รวมถึงการสาธิตประดิษฐ์โคม ตุง ล้านนา และกระทง ที่เป็นการลอยโคมขึ้นฟ้า ต่างจากการลอยกระทงลงน้ำ แต่ให้ความสวยงามไม่แพ้กัน

ส่วนในภาคกลาง หลายจังหวัดจะมีการจัดงานประกวดกระทงและนางนพมาศ ตลอดจนการแสดงศิลปวัฒนธรรมหลากหลายความบันเทิงรูปแบบต่างๆ เช่น งานลอยกระทงกาบกล้วยเมืองแม่กลอง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม กว่า 1 แสนใบ ตลอดลำน้ำแม่กลอง

ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น ที่สำคัญอย่าสนุกกันจนหลงลืมความเป็นประเพณีที่ดีงาม ที่เพลิดเพลินได้แบบคนมีวัฒนธรรม

หน้า 5,มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น