จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การปล้นธนาคารในติฟลิส ค.ศ. 1907 หรือที่รู้จักกันว่า การเวนคืนจัตุรัสเยเรวาน[1] คือการใช้อาวุธปล้นการขนส่งเงินของธนาคารโดยนักปฏิวัติพรรคบอลเชวิคในเมืองติฟลิส ประเทศจอร์เจีย (ปัจจุบันคือกรุงทบิลิซีเมืองหลวงของประเทศ) เหตุปล้นดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1907[a] ที่จัตุรัสเยเรวาน (ปัจจุบันคือจัตุรัสเสรีภาพ) ผู้ร่วมก่อการ (ซึ่งต่อมาหลายคนได้กลายเป็นผู้นำระดับสูงของสหภาพโซเวียต) ได้ใช้ทั้งระเบิดและปืนในการเข้าล้อมและยึดรถม้าที่กำลังขนส่งเงินระหว่างที่ทำการไปรษณีย์กับธนาคารรัฐของจักรวรรดิรัสเซีย สาขาติฟลิส ท่ามกลางจัตุรัสที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คน ตามเอกสารจดหมายเหตุอย่างเป็นทางการระบุว่า การปล้นดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 40 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 50 คน ผู้ก่อการหนีไปได้โดยได้เงินไปกว่า 341,000 รูเบิล (กว่า 3.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน ค.ศ. 2008)
ผู้วางแผน และ/หรือ ลงมือปฏิบัติการในการปล้นธนาคารครั้งนั้น ประกอบด้วยผู้นำระดับสูงหลายคนของพรรคบอลเชวิค รวมไปถึง วลาดิมีร์ เลนิน โจเซฟ สตาลิน แม็กซิม ลิทวินอฟ เลโอนิด คราซิน อเล็กซานเดอร์ บอกดานอฟ และคาโม เพื่อหาเงินทุนสนับสนุนกิจกรรมในการปฏิวัติ รายงานผลที่ตามมาหลังเหตุการณ์ดังกล่าวถูกนำไปใช้ต่อต้านเลนินและสตาลิน ซึ่งคนทั้งสองพยายามเอาตัวออกห่างจากเหตุปล้นธนาคารดังกล่าว
เมื่อถึงยุคโซเวียต จัตุรัสเยเรวานได้เปลี่ยนชื่อเป็นจัตุรัสเลนิน โดยมีการสร้างอนุสาวรีย์เพื่ออุทิศแก่ผู้นำการปฏิวัติ สุสานและอนุสาวรีย์อุทิศให้คาโม ผู้นำของกลุ่มปฏิบัติการปล้นธนาคารครั้งนี้ ตั้งอยู่ใกล้กับจัตุรัสในสวนพุชกินในช่วงสมัยโซเวียตยุคแรก แต่ในภายหลังได้ย้ายออกไป
เนื้อหา[ซ่อน] |
[แก้]เบื้องหลัง
พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (RSDLP) ซึ่งเป็นองค์กรดั้งเดิมก่อนกลายไปเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต ได้ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1898 โดยมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจและการเมืองของรัสเซียโดยอาศัยการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพตามทฤษฎีมาร์กซิสต์ นอกเหนือจากกิจกรรมทางการเมืองแล้ว ทางพรรคและกลุ่มปฏิวัติอื่น ๆ (อย่างเช่น ผู้นิยมอนาธิปไตยและกลุ่มสังคมนิยมปฏิวัติ) ยังดำเนินปฏิบัติการทางทหาร รวมไปถึง "การเวนคืน" ซึ่งเป็นคำสวยหรูที่ใช้เรียกการปล้นรัฐบาลหรือกองทุนเอกชนโดยใช้อาวุธเพื่อหาเงินทุนสนับสนุนกิจกรรมปฏิวัติ[2][3]
นับตั้งแต่ ค.ศ. 1903 เป็นต้นมา พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียได้แบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ ได้แก่ บอลเชวิคและเมนเชวิค[4][5][6] หลังจากการปราบปรามการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1905 กลุ่มการเมืองบอลเชวิคและเมนเชวิคต่างก็พยายามที่จะสร้างเอกภาพภายในพรรค โดยจัดการประชุมใหญ่ร่วมและตั้งคณะกรรมการกลางร่วม[7]
ในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ค.ศ. 1907 พรรคได้จัดการประชุมใหญ่ครั้งที่ 5 ในกรุงลอนดอน ด้วยความหวังว่าจะแก้ปัญหาความแตกต่างระหว่างบอลเชวิคและเมนเชวิค[7][8] ในระหว่างการประชุม ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกคณะกรรมการกลางร่วม โดยมีสมาชิกบอลเชวิคได้รับเลือกเข้ามาเป็นส่วนน้อย[7] ประเด็นหนึ่งซึ่งแบ่งแยกกลุ่มทั้งสองออกจากกัน คือ มุมมองที่แตกต่างกันในด้านกิจกรรมสงคราม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "การเวนคืน"[8] กลุ่มบอลเชวิคที่พร้อมรบที่สุด นำโดย วลาดีมีร์ เลนิน สนับสนุนวิธีการปล้นต่อไป ในขณะที่เมนเชวิคสนับสนุนการรุกแบบค่อยเป็นค่อยไปและเป็นไปโดยสันติกว่าเพื่อการปฏิวัติ และต่อต้านปฏิบัติการสงคราม การประชุมครั้งที่ 5 ประณามการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือการให้ความสนับสนุนในกิจกรรมสงครามทั้งหมด รวมไปถึง "การเวนคืน" โดยมองว่าเป็น "ความยุ่งเหยิงและเสื่อมเสียคุณธรรม" และเรียกร้องให้ทหารอาสาสมัครของพรรคทั้งหมดสลายตัว[7][8] มติดังกล่าวผ่านโดยเสียงส่วนใหญ่ 65% โดยมีเพียง 6% เท่านั้นที่มีมติไม่เห็นด้วย (ในขณะที่ที่เหลือสละสิทธิ์หรือไม่ลงคะแนน) โดยที่เมนเชวิคทั้งหมดและบอลเชวิคบางส่วนให้การสนับสนุนมติดังกล่าว[7]
ถึงแม้ว่าพรรคจะห้ามจัดตั้งคณะกรรมการและการเวนคืนแยกต่างหาก ในระหว่างการประชุมครั้งที่ 5 บอลเชวิคได้เลือกคณะกรรมการปกครองเป็นของตนเอง เรียกว่า บอลเชวิคกลาง และเก็บไว้เป็นความลับจากสมาชิกที่เหลือของพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตย[4][5][6][7] บอลเชวิคกลาง นำโดย "กลุ่มการเงิน" ซึ่งประกอบด้วยเลนิน เลโอนิด คราซิน และอเล็กซานเดอร์ บอกดานอฟ ในกิจกรรมอื่นของพรรค กลุ่มการเงินได้มีแผนการ "การเวนคืน" จำนวนหนึ่งเตรียมไว้แล้วในหลายส่วนของรัสเซียในระหว่างการประชุมครั้งที่ 5 และรอคอยการปล้นครั้งใหญ่ในติฟลิส ซึ่งเกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากการประชุมครั้งที่ 5 ยุติ[4][5][6][7][8][9]
[แก้]การเตรียมการ
ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1907 บอลเชวิคระดับสูงได้จัดการประชุมขึ้นในเบอร์ลินเพื่อตกลงขั้นตอนการปล้นหาทุนสำหรับใช้จัดซื้ออาวุธ ผู้เข้าร่วมประชุมได้แก่ เลนิน คราซิน บอกดานอฟ มาซิม ลิตวีนอฟ และโจเซฟ สตาลิน กลุ่มได้ตัดสินใจว่า สตาลิน ผู้ขณะนั้นรู้จักกันในชื่อ โคบา อันเป็นชื่อเล่นเก่า กับสหายชาวจอร์เจีย ไซมอน เตียร์-เปตรอสซีอัน หรือ คาโม ควรจัดการปล้นธนาคารในเมืองติฟลิส[5]
เมื่อตอนจัดประชุมนั้นสตาลินอายุ 29 ปี เขาอาศัยอยู่ในติฟลิสกับภรรยา เอคาเตรีนา และยาคอฟ บุตรชายที่เพิ่งเกิด[10] สตาลินมีประสบการณ์วางแผนก่อการปล้นมาก่อน ซึ่งทำให้เขามีชื่อเสียงว่าเป็นผู้จัดหาเงินคนสำคัญของคณะกรรมการกลาง[1][4] ส่วนคาโมผู้อายุน้อยกว่าสตาลินสี่ปี ก็มีกิตติศัพท์ด้านความโหดเหี้ยม ดังในช่วงหลังๆ ที่มีรายงานว่าเขาตัดหัวใจของชายคนหนึ่งออกจากอก[11] ระหว่างที่กำลังเตรียมการปล้นอยู่นี้ เขาบริหารองค์กรอาชญากรรมแห่งหนึ่งอยู่ เรียกชื่อว่า "เดอะเอาท์ฟิต"[12] สตาลินเรียกคาโมว่าเป็น "ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลอมตัว" และเลนินเรียกคาโมว่า "โจรคอเคซัส" ของเขา สตาลินกับคาโมนั้นเติบโตขึ้นมาด้วยกัน และสตาลินเป็นผู้เปลี่ยนความเชื่อของคาโมมาเป็นมาร์กซิสม์[11]
หลังจากการประชุมเมษายน สตาลินและลิตวีนอฟได้เดินทางไปยังติฟลิสเพื่อแจ้งให้คาโมทราบถึงแผนการและเตรียมการปล้น[5][13] ตามข้อมูลใน The Secret File of Joseph Stalin: A Hidden Life (แฟ้มลับของโจเซฟ สตาลิน: ชีวิตที่ถูกปิดบัง) ของโรมัน แบรกแมน ระหว่างที่สตาลินกำลังทำงานร่วมกับบอลเชวิคในการจัดกิจกรรมทางอาชญากรรม เขายังทำงานเป็นผู้ให้ข้อมูลแก่โอฮรานา ตำรวจลับรัสเซีย[5] แบรกแมนอ้างว่าเมื่อกลุ่มได้เดินทางมาถึงติฟลิส สตาลินได้แจ้งข้อมูลให้แก่ผู้ติดต่อโอฮรานาของเขา เจ้าหน้าที่มุฮ์ตารอฟ เกี่ยวกับแผนการปล้นธนาคารและสตาลินได้ให้สัญญาว่าจะให้ข้อมูลแก่ออฮรานาเพิ่มเติมในภายหลัง[5]
เมื่อกลับถึงติฟลิส สตาลินได้เริ่มการวางแผนสำหรับการปล้น เขาสามารถติดต่อกับบุคคลสองคนซึ่งมีข้อมูลภายในเกี่ยวกับกิจการของธนาคารรัฐ ได้แก่ เจ้าหน้าที่รับฝากและถอนเงินธนาคารชื่อว่า จีโก คัสรัดเซ และเพื่อนเก่าสมัยเรียนของสตาลิน ชื่อว่า วอซเนเซนสกี ซึ่งทำงานที่สำนักงานแบงก์เมล์ติฟลิส[14][15]วอซเนเซนสกีกล่าวในภายหลังว่า เขายกย่องบทกวีอันแสนโรแมนติกของสตาลินมาก และตัดสินใจจะช่วยเหลือในการปล้นเนื่องจากความชื่นชมนี้เอง[14][15]เพราะว่าเขาทำงานในสำนักงานแบงก์เมล์ติฟลิส วอซเนเซนสกีจึงสามารถเข้าถึงตารางเวลาลับของรถม้าขนเงินไปยังธนาคารรัฐสาขาติฟลิส[13] วอซเนเซนสกีแจ้งให้สตาลินทราบว่ากำลังจะมีการขนส่งเงินครั้งใหญ่ด้วยรถม้าไปยังธนาคารติฟลิสในวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1907[14][15]
ในการเตรียมการสำหรับการปล้น คราซินได้ช่วยผลิตระเบิดเพื่อใช้โจมตียานพาหนะ[1] แก๊งของคาโมลักลอบนำระเบิดเข้าไปในติฟลิสโดยซุกซ่อนไว้ในโซฟา[16] เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้าการปล้น คาโมจุดระเบิดหนึ่งในระเบิดของคราซินโดยอุบัติเหตุระหว่างที่พยายามติดตั้งสายชนวน[17] แรงระเบิดได้ทำให้ดวงตาของคาโมได้รับบาดเจ็บสาหัส ทำให้เขามีแผลเป็นถาวร[11][18][19] คาโมไม่สามารถลุกขึ้นจากเตียงได้เป็นเวลาหนึ่งเดือนเนื่องจากความเจ็ดปวดอย่างแรง และยังไม่หายดีเมื่อถึงเวลาลงมือปล้น[11][18][19] ในขณะที่ทางกลุ่มวางแผนสำหรับการปล้น ทางการรัสเซียก็ได้ทราบว่าจะเกิดการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ที่ได้รับการวางแผนโดยกลุ่มปฏิวัติในติฟลิส แม้ว่าจะไม่ทราบถึงรายละเอียดก็ตาม และด้วยสาเหตุดังกล่าว ทางการจึงได้ประจำฝ่ายรักษาความปลอดภัยเพิ่มในจัตุรัสหลักของเมือง[12]
[แก้]วันลงมือ
ในวันลงมือปล้น 26 มิถุนายน ค.ศ. 1907 ผู้วางแผนลงมือ รวมทั้งสตาลิน ได้พบกันใกล้กับจัตุรัสเยเรวานเพื่อทำให้แผนการเสร็จสมบูรณ์ หลังจากการประชุมครั้งสุดท้าย ผู้วางแผนได้เดินทางไปยังสถานที่ที่กำหนดไว้ในขั้นตอนการเตรียมการโจมตี[20] ตำรวจได้รับการเตือนล่วงหน้าก่อนการปล้นและยืนเฝ้าอยู่ทุกหัวมุมถนนในจัตุรัสเยเรวาน[12] เพื่อรับมือกับการรักษาความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นนี้ สมาชิกแก๊งจึงได้รับมอบหมายให้คอยสอดส่องดูเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก่อนการปล้น โดยสมาชิกเหล่านี้ประจำอยู่ที่หอคอยเหนือถนนหลักและมองลงไปยังจัตุรัส[11][12]
สมาชิกแก๊งส่วนใหญ่แต่งกายคล้ายกับชาวบ้านและรอคอยอยู่ตามหัวมุมถนนพร้อมด้วยปืนพกลูกโม่และระเบิดมือ[11] ในลักษณะขัดแย้งกับการปล้นครั้งอื่น คาโมได้อำพรางเป็นนายร้อยทหารม้าและเดินทางเข้ามาในจัตุรัสด้วยรถม้าเปิดประทุน[11][21]
ผู้สมรู้ร่วมคิดได้เข้าควบคุมโรงเตี๊ยมซึ่งหันหน้าไปทางจัตุรัสในการเตรียมการปล้น พยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์ เดวิด ซากิรัชวีลี ซึ่งในภายหลังได้กล่าวว่าขณะกำลังเดินอยู่ในจัตุรัสเยเรวานพร้อมกับเพื่อนชื่อ บาชัว คูเปรียชวีลี ผู้ซึ่งภายหลังได้กลายมาเป็นว่าเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มขโมยนั้นด้วย ได้เชิญเขาเข้าไปในโรงเตี๊ยมและขอให้เขาอยู่ ซากิรัชวีลีค้นพบว่ากลุ่มชายติดอาวุธกำลังหยุดไม่ให้คนที่อยู่ในโรงเตี๊ยมนั้นออกไป เมื่อสเตจโคชขนเงินมาใกล้จัตุรัส กลุ่มชายติดอาวุธก็ได้ออกจากอาคารอย่างรวดเร็วพร้อมกับชักปืนพกออกมา[11]
ธนาคารรัฐของจักรวรรดิรัสเซียได้จัดการขนส่งเงินระหว่างที่ทำการไปรษณีย์และธนาคารรัฐโดยสเตจโคช[22][23] ซึ่งภายในมีเงิน มียามสองคนเฝ้าระวังพร้อมด้วยปืนไรเฟิล พนักงานเก็บเงินของธนาคารรัฐ และนักบัญชีของธนาคาร[1][16][21] สเตจโคชเปิดประทุนพร้อมด้วยยามอีกคันหนึ่งวิ่งตามหลังมา และมียามขี่ม้าขี่อยู่ข้างหน้า ด้านข้าง และตามหลังสเตจโคชอีกด้วย[16][21]
[แก้]การโจมตี
สเตจโคชได้แล่นผ่านทางจัตุรัสที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คนเมื่อเวลาราว 10.30 น. เมื่อสเตจโคชเข้ามาใกล้ คูเปรียชวีลีได้ให้สัญญาณแก่ผู้ปล้นให้ทำการโจมตี[1][16] เมื่อได้รับสัญญาณแล้ว ผู้ปล้นได้ดึงสลักจากระเบิดมือของตนและขว้างเข้าใส่รถม้า[16][24] แรงระเบิดที่เกิดขึ้นได้สังหารม้าและยาม ผู้ปล้นได้เริ่มต้นยิงชายรักษาความปลอดภัยหลายนายที่เฝ้าสเตจโคช เช่นเดียวกับที่รักษาความปลอดภัยในจัตุรัส[16]
พยานผู้เห็นเหตุการณ์ได้รายงานว่าระเบิดถูกโยนมาจากทุกทิศทาง[16][25] หนังสือพิมพ์จอร์เจีย อิซารี รายงานว่า "ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าเหตุยิงกันอันน่าหวาดกลัวนั้นเป็นเสียงตูมของปืนใหญ่หรือแรงระเบิดของระเบิด ... เสียงได้ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นทุกหนแห่ง ... เกือบจะทั่วทั้งเมือง ผู้คนได้เริ่มต้นที่จะวิ่งหนี รถม้าและเกวียนได้วิ่งควบหนีไป ..."[16] แรงระเบิดรุนแรงมากเสียจนมีรายงานว่าทำให้ปล่องไฟที่อยู่ใกล้เคียงล้มลงมา และกระจกทุกบานในรัศมีหนึ่งไมล์แตกกระจาย[26][27] เอคาเทียรีนา สวานิดเซ ภรรยาของสตาลิน ซึ่งกำลังยืนอยู่บนระเบียงที่บ้านของพวกเขาใกล้กับจัตุรัสพร้อมกับครอบครัวและลูกน้อย เมื่อพวกเขาได้ยินเสียงระเบิด พวกเขาก็ได้รีบเร่งวิ่งเข้าไปหลบอยู่ในบ้านด้วยความหวาดกลัว[26]
ถึงแม้ว่าแรงระเบิดจะฆ่ายามและม้าไปเป็นจำนวนมาก หนึ่งในม้าที่ถูกเทียมเข้ากับสเตจโคชได้รับบาดเจ็บแต่ยังมีชีวิตอยู่[21][26] มันได้รีบผละไปจากจุดเกิดเหตุพร้อมกับลากสเตจโคชไปด้วย[21][26] ผู้ปล้นสามคน ได้แก่ คูเปรียชวีลี, ดาติโค ชีเบรียชวิลี และคาโม ได้ไล่ตามม้าตัวดังกล่าวซึ่งลากสเตจโคชบรรทุกเงินไปด้วย[14] คูเปรียชวีลีโยนระเบิดมือเข้าใส่สเตจโคชที่กำลังหลบหนีนั้น และแรงระเบิดได้ระเบิดเอาขาของม้า ซึ่งทำให้ม้าล้มและสเตจโคชหยุดลงในที่สุด[14] แรงระเบิดยังได้ทำให้คูเปรียชวีลีลอยขึ้นไปในอากาศ และตกลงมามึนงงกับพื้น[14] ในภายหลัง คูเปรียชวีลีมีสัมปชัญญะอีกครั้งหนึ่งและเริ่มต้นย่องออกไปจากจัตุรัสก่อนที่กองกำลังความมั่นคงจะมาถึง[28] หลังจากที่สเตจโคชถูกหยุดไว้แล้ว ดาติโค ชีเปรียชวีลีได้เดินเข้าไปยังสเตจโคชเพื่อคว้าเอากระสอบเงิน ขณะที่คาโมซึ่งยิงปืนพกจากบนรถม้าเปิดประทุน ได้วิ่งอย่างเร็วเข้าไปหาสเตจโคชคันนั้น[14][21][29] เมื่อคาโมมาถึงสเตจโคช ชีเปรียชวีลีและผู้ปล้นอีกคนหนึ่งซึ่งมาถึงสเตจโคชได้ช่วยโยนเงินที่ขโมยมาเข้าไปในรถม้าของคาโม[29] เพื่อให้ทันเวลา ผู้ปล้นจึงไม่ทันเอาเงินอีกสองหมื่นรูเบิลที่ยังคงเหลืออยู่ในสเตจโคช[28] หลังจากการปล้น คนขับสเตจโคชที่รอดชีวิตได้พยายามยักยอกเงินส่วนที่เหลือนี้และถูกจับในภายหลังข้อหาลักทรัพย์[28]
[แก้]การหลบหนีและเหตุการณ์สืบเนื่อง
หลังจากได้รับเงินมาแล้ว คาโมได้ขี่รถม้าออกจากจัตุรัสอย่างรวดเร็วและเผชิญหน้ากับรถม้าของตำรวจที่ขี่โดยรองผู้กำกับการ แทนที่จะหันหลังกลับไปอีกทางหนึ่ง คาโมกลับแสดงตนว่าเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังความมั่นคงและตะโกนใส่นายตำรวจว่า "เงินปลอดภัยแล้ว วิ่งไปยังจัตุรัสแล้ว"[29] รองผู้กำกับการคนดังกล่าวเชื่อฟังคำพูดนั้น และอีกเป็นเวลานานกว่าที่เขาจะพบว่าเขาถูกหลอกโดยผู้ปล้นที่กำลังหลบหนี รองผู้กำกับการผู้นี้ทำอัตวินิบาตกรรมหลังจากนั้นไม่นาน[29]
คาโมได้ขี่ไปยังที่ซ่อนของแก๊งที่ซึ่งเขาถอดเครื่องแบบออก[29] ผู้ปล้นทั้งหมดได้กระจายตัวไปอย่างรวดเร็ว และไม่มีผู้ใดถูกจับกุมจากเหตุดังกล่าวโดยทางการแม้แต่คนเดียว[21][28] หนึ่งในผู้ปล้นได้หลบหนีออกจากจัตุรัส ขโมยเครื่องแบบครูที่เขาพบใกล้เคียง จากนั้นจึงกลับเข้ามาในจัตุรัสเพื่อชื่นชมผลงานของพวกเขา[28] สิ่งที่เขาเห็นนั้นคือฉากการสังหารอันนองเลือด[30]
มีผู้ได้รับบาดเจ็บห้าสิบคนถูกทิ้งให้นอนอยู่ในจัตุรัสพร้อมกับศพคนและม้า[21][25][30] ทางการกล่าวว่ามีเพียงสามคนเท่านั้นที่เสียชีวิต แต่เอกสารในหอจดหมายเหตุออครานาเปิดเผยว่าตัวเลขที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ราวสี่สิบคน[30]
ธนาคารรัฐไม่ทราบแน่ชัดว่าเงินถูกขโมยไปเท่าใดจากเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ส่วนใหญ่ประมาณว่าอยู่ที่ราว 341,000 รูเบิล (ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 3.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามค่าเงินใน ค.ศ. 2008)[21][30] จากจำนวน 341,000 รูเบิลที่ถูกปล้นไปนั้น ราว 91,000 รูเบิลเท่านั้นที่เป็นธนบัตรเล็กที่ไม่สามารถตามรอยได้ แต่อีก 250,000 รูเบิล เป็นธนบัตร 500 รูเบิลขนาดใหญ่ซึ่งมีหมายเลขอนุกรมซึ่งตำรวจทราบ[21][30] ทำให้การแลกเงินเหล่านี้โดยที่ไม่ถูกตรวจจับได้ทำได้ยาก[21][30]
[แก้]บทบาทของสตาลินในการปล้น
พฤติการณ์ที่แน่ชัดของสตาลินในวันปล้นยังคงไม่เป็นที่ทราบกันและยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่[14] หลังจากการปล้น มีข่าวลือว่าสตาลินเป็นผู้โยนระเบิดมือลูกแรกจากหลังคาของคฤหาสน์ที่อยู่ใกล้เคียง[16] หนึ่งข้อมูลหนึ่ง พี.เอ. ปัฟเลนโค กล่าวอ้างว่าสตาลินโจมตีรถม้าด้วยตัวเองและได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิด[14]ในภายหลัง คาโมได้รายงานโดยระบุว่า สตาลินไม่มีส่วนร่วมในปฏิบัติการปล้นครั้งดังกล่าว แต่ได้มองดูจากระยะไกล[21][29] แหล่งข้อมูลอื่นระบุในรายงานของตำรวจว่า สตาลิน "เฝ้าสังเกตการนองเลือดอย่างไร้ความปรานี ขณะสูบบุหรี่ไปด้วย จากลานของคฤหาสน์หลังหนึ่ง"[29] แหล่งข้อมูลอีกแหล่งหนึ่งอ้างว่า แท้จริงแล้วสตาลินอยู่ที่สถานีรถไฟระหว่างการปล้นและมิได้อยู่ที่จัตุรัส[29] พี่สะใภ้ของสตาลินกล่าวว่า ในคืนวันปล้นนั้น สตาลินได้มาที่บ้านและกล่าวแก่ครอบครัวถึงความสำเร็จของการปล้น[30]
บทบาทของสตาลินในการปล้นได้ถูกตั้งคำถามในภายหลังในหมู่นักปฏิวัติในสมัยหลัง ที่โดดเด่นได้แก่ ลีออน ทร็อตสกี และบอริส นิโคลาเอฟสกี ในหนังสือ "Stalin – An Appraisal of the Man and his Influence" (สตาลิน - การประเมินค่าบุรุษและอิทธิพลของเขา) ของทร็อตสกี เขาได้วิเคราะห์จากสื่อตีพิมพ์หลายแขนงซึ่งอธิบายถึงการเวนคืนติฟลิสและกิจกรรมติดอาวุธอื่น ๆ ของบอลเชวิคในเวลานั้น และได้สรุปว่า "คนอื่น ๆ ได้ทำการสู้รบ แต่สตาลินได้ควบคุมจากระยะไกล"[2] ตามข้อมูลของนิโคลาเอฟสกี โดยทั่วไปแล้ว "บทบาทของสตาลินในกิจกรรมของกลุ่มคาโมได้กล่าวเกินความเป็นจริงตามลำดับ"[31] อย่างไรก็ตาม ในภายหลัง คุนได้ค้นพบเอกสารจดหมายเหตุทางการที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า "นับตั้งแต่ปลาย ค.ศ. 1904 หรือต้น ค.ศ. 1905 สตาลินมีส่วนร่วมในการร่างแผนการเวนคืน" และ "เป็นที่แน่นอนแล้วว่า [สตาลิน] ควบคุมจากปีกของแผนเริ่มต้นของกลุ่ม" ซึ่งปฏิบัติการปล้นในติฟลิส[31]
[แก้]การตอบสนองของฝ่ายความมั่นคงและการสืบสวน
สื่อมวลชนได้รายงานการปล้นครั้งนี้อย่างกว้างขวาง: เดย์ลีมีร์เรอร์ในลอนดอนเขียนบทความภายใต้พาดหัวข่าว "Rain of Bombs: Revolutionaries Hurl Destruction among Large Crowds of People" (ห่าระเบิด: นักปฏิวัติขว้างทำลายกลางหมู่ฝูงชน) เดอะไทมส์ออฟลอนดอนเขียนบทความภายใต้พาดหัวข่าว "Tiflis Bomb Outrage" (ระเบิดทำลายติฟลิส) เลอ ตงป์สในปารีสเขียนบทความใต้พาดหัวข่าว "Catastrophe!" (มหันตภัย!) และเดอะนิวยอร์กไทมส์เขียนบทความภายใต้พาดหัวข่าว "Bomb Kills Many; $170,000 Captured" (ระเบิดคร่าคนจำนวนมาก: ฉกเงิน 170,000 ดอลลาร์)[21][25][28]
สำหรับส่วนของทางการ ได้ตอบสนองต่อการปล้นโดยการระดมกองทัพ ปิดถนน และปิดล้อมจัตุรัส โดยหวังว่าจะสามารถจับกุมผู้สมคบคิดและได้รับเงินคืน[28] ตำรวจเริ่มต้นสืบสวนอาชญากรรมดังกล่าว และหน่วยสืบสวนพิเศษที่ถูกส่งเข้ามาในพื้นที่เพื่อนำการสืบสวน[21][25][28] โชคร้ายสำหรับเจ้าหน้าที่สืบสวน คำให้การของพยานนั้นน่าสงสัยและขัดแย้งกันเอง[28] ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังไม่ทราบด้วยว่ากลุ่มใดมีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุดังกล่าว เนื่องจากมีข่าวลือเป็นจำนวนมากว่าพรรคสังคมนิยมโปแลนด์ อาร์เมเนีย พวกอนาธิปไตย พรรคสังคมนิยม-ปฏิวัติเป็นผู้ลงมือ หรือแม้กระทั่งข่าวลือที่ว่าทางการรัสเซียจัดฉากขึ้นเองด้วย[28]
ในหนังสือ The Secret File of Joseph Stalin: A Hidden Life (แฟ้มลับของโจเซฟ สตาลิน: ชีวิตที่ถูกปิดบัง) ของโรมัน แบร็กแมน หลายวันหลังจากการปล้น เจ้าหน้าที่โอฮรานา มูฮ์ตารอฟ ได้ตั้งคำถามสตาลินเกี่ยวกับการปล้นในอพาร์ตเมนต์ลับแห่งหนึ่ง เจ้าหน้าที่ได้ทราบข่าวลือมาว่าสตาลินยืนมองอยู่โดยไม่ทำอะไรระหว่างการปล้น มูฮ์ตารอฟถามสตาลินว่าทำไมเขาจึงไม่แจ้งพวกเขาเกี่ยวกับการปล้น แต่สตาลินระบุว่าเขาได้ให้ข้อมูลต่อทางการมากพอเพื่อป้องกันการปล้นแล้ว การตั้งคำถามยกระดับขึ้นกลายเป็นการโต้เถียงอย่างเผ็ดร้อน มูฮ์ตารอฟตบหน้าสตาลินจนเจ้าหน้าที่ออครานาคนอื่นต้องเข้าห้ามไว้ หลังจากเหตุดังกล่าว มูฮ์ตารอฟถูกพักงานจากโอฮรานา และสตาลินได้รับคำสั่งให้ออกจากติฟลิสและไปยังบาคูเพื่อรอผลตัดสินใจจากเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับคดีดังกล่าว สตาลินออกจากบาคูพร้อมด้วยเงิน 20,000 รูเบิลจากจำนวนที่ถูกขโมยไปในเดือนกรกกฎาคม ค.ศ. 1907[21] การกล่าวอ้างที่ว่าสตาลินทำงานร่วมกับโอฮรานาเป็นหัวข้อโต้เถียงในหมู่นักประวัติศาสตร์เป็นเวลาหลายทศวรรษ[32]
[แก้]การขนย้ายเงินและการจับกุมคาโม
เงินที่ได้จากการปล้นเดิมถูกเก็บรักษาไว้ที่บ้านเพื่อนของสตาลิน มีฮาและมาโร โบชอริดเซ ซึ่งอาศัยอยู่ในติฟลิส[29] เงินถูกเย็บซ่อนไว้ในฟูกเพื่อจะสามารถขนย้ายและเก็บรักษาได้ง่ายโดยไม่เป็นที่สงสัย[33] ฟูกที่เก็บซ่อนเงินไว้นั้นถูกเคลื่อนย้ายจากเซฟเฮาส์หลังหนึ่งไปยังอีกหลังหนึ่ง และในภายหลังได้เคลื่อนย้ายไปยังเก้าอี้ยาวของผู้อำนวยการ ณ สถานีอุตุนิยมวิทยาติฟลิส[21][30] สตาลินทำงานที่สถานีอุตุนิยมวิทยาดังกล่าวก่อนหน้าการปล้น และอาจเป็นเหตุผลว่าเหตุใดจึงนำเงินมาซ่อนไว้ที่นี่[21][30] แหล่งข้อมูลบางแหล่งยังได้กล่าวอ้างว่าสตาลินได้ช่วยขนย้ายเงินเข้ามาในสถานีอุตุนิยมวิทยาดังกล่าวอีกด้วย[30]ผู้อำนวยการสถานีกล่าวว่าเขาไม่เคยรู้มาก่อนว่าเงินที่ถูกขโมยนั้นถูกเก็บไว้ใต้จมูกของเขาเช่นนี้[30]
เงินที่ถูกปล้นมาส่วนใหญ่ถูกขนย้ายโดยคาโม ผู้ซึ่งนำเงินไปให้แก่เลนินในฟินแลนด์ ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซีย จากนั้นคาโมได้ใช้เวลาในช่วงฤดูร้อนที่เหลืออาศัยอยู่กับเลนินที่ดาชาของเขา ในฤดูใบไม้ร่วงปีนั้น คาโมเดินทางออกจากฟินแลนด์ไปเพื่อซื้ออาวุธสำหรับกิจกรรมในอนาคต เขาได้เดินทางไปยังปารีส และต่อไปยังเบลเยียมเพื่อซื้ออาวุธและเครื่องกระสุน จากนั้นไปยังบัลแกเรียเพื่อซื้อตัวจุดระเบิด 200 ตัว[18]
หลังจากการซื้ออาวุธในบัลแกเรีย คาโมเดินทางไปยังเบอร์ลินและส่งจดหมายจากเลนินให้แก่แพทย์บอลเชวิคที่มีชื่อเสียง ยาคอฟ จีโตมีร์สกี โดยขอให้แพทย์ผู้นั้นให้ความช่วยเหลือในการรักษาดวงตาที่ยังได้รับบาดเจ็บของคาโม[18] เลนินหวังว่าจะช่วยชายผู้ซึ่งประสบความสำเร็จในการลงมือปล้น แต่กลับส่งตัวคาโมให้แก่สายลับสองหน้าโดยมิได้ตั้งใจ[18] จีโตมีร์สกีได้ทำงานอย่างลับ ๆ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลรัสเซียและรีบแจ้งข่าวแก่โอฮรานาเกี่ยวกับการมาถึงของคาโม[18] จากนั้น โอฮรานาได้ร้องขอให้ตำรวจกรุงเบอร์ลินเข้าจับกุมคาโม[18] และเมื่อมีการจับกุม พวกเขาได้พบหนังสือเดินทางออสเตรียปลอมและกระเป๋าเงินที่มีตัวจุดระเบิด 200 ตัว ซึ่งเขาวางแผนที่จะใช้ในการปล้นธนาคารครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง[34]
[แก้]การจ่ายธนบัตรที่มีเครื่องหมาย
หลังจากทราบข่าวการถูกจับกุมของคาโมในกรุงเบอร์ลินใน ค.ศ. 1907 เลนินกลัวว่าตนอาจถูกจับกุมด้วยเช่นกันและวางแผนที่จะหลบหนีออกจากฟินแลนด์พร้อมกับภรรยา[35] เพื่อที่จะหนีออกจากฟินแลนด์โดยไม่ถูกสะกดรอยตาม เลนินเดินเป็นระยะทาง 4.8 กิโลเมตรข้ามทะเลสาบที่เป็นน้ำแข็งในเวลากลางคืนเพื่อขึ้นเรือกลไฟที่เกาะใกล้เคียง[36] ระหว่างการเดินทางข้ามน้ำแข็งนั้น เลนินและเพื่อนร่วมทางของเขาอีกสองคนหวุดหวิดที่จะจมน้ำเสียชีวิตเมื่อน้ำแข็งแตกออกใต้เท้าของพวกเขา ทำให้เลนินคิดว่า "อา ช่างเป็นวิธีตายที่โง่เสียจริง"[36] เลนินกับภรรยาสามารถหลบหนีออกจากฟินแลนด์ได้สำเร็จ และมุ่งหน้าไปยังสวิตเซอร์แลนด์[35][36]
การแลกธนบัตรจากการปล้นที่ไม่มีเครื่องหมายนั้นทำได้ง่าย แต่หมายเลขอนุกรมของธนบัตร 500 รูเบิลเป็นที่รู้กันของเจ้าหน้าที่ทางการ ทำให้การแลกธนบัตรเหล่านี้ในธนาคารรัสเซียนั้นเป็นไปไม่ได้[21] เมื่อถึงปลายปี ค.ศ. 1907 เลนินตัดสินใจที่จะแลกเปลี่ยนธนบัตร 500 รูเบิลที่เหลือในต่างประเทศ[35] ในการเตรียมการสำหรับการแลกเปลี่ยน คราซินได้ให้นักปลอมแปลงเอกสารพยายามเปลี่ยนแปลงหมายเลขอนุกรมบางตัว[37] ธนบัตรเหล่านี้จำนวน 200 ใบถูกส่งไปยังต่างประเทศโดยมาร์ติน ลืยอะดอฟ (ธนบัตรเหล่านี้ถูกเย็บเข้ากับเสื้อกล้ามโดยภรรยาของเลนินและบอกดานอฟที่สำนักงานใหญ่ของเลนินในคูออคคาลา)[7]แผนการของเลนินคือการให้บุคคลจำนวนมากแลกเปลี่ยนธนบัตร 500 รูเบิลที่ถูกขโมยนี้พร้อมกันในธนาคารหลายแห่งทั่วทวีปยุโรปในเดือนมกราคม ค.ศ. 1908[35] จีโตมีร์สกีทราบแผนการดังกล่าวและรายงานข้อมูลนี้ให้กับโอฮรานา[35] โอฮรานาติดต่อกรมตำรวจทั่วทวีปยุโรปและร้องขอให้จับกุมใครก็ตามผู้พยายามขึ้นเงินธนบัตรดังกล่าว[35]
เดือนมกราคม ค.ศ. 1908 มีหลายคนถูกจับกุมขณะพยายามแลกเปลี่ยนธนบัตร[38][39][40] หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ รายงานว่า ผู้หญิงคนหนึ่งผู้ซึ่งพยายามจ่ายธนบัตร 500 รูเบิลที่มีเครื่องหมายพยายามกลืนหลักฐานหลังจากที่แคชเชียร์เรียกตำรวจ แต่ตำรวจกำช่องคอของเธอไว้ก่อนที่เธอจะกลืนลงไป[40]การจับกุมครั้งสำคัญที่สุด ได้แก่ มาซิม ลิตวินอฟ ผู้ซึ่งถูกจับกุมพร้อมกับธนบัตร 500 รูเบิล จำนวน 12 ใบ ซึ่งปล้นมาขณะกำลังขึ้นรถไฟพร้อมกับอนุภรรยาที่สถานีรถไฟการ์ดูนอร์ในปารีส[41][42] ลิตวินอฟวางแผนจะไปยังลอนดอนเพื่อจ่ายธนบัตรดังกล่าว[41] รัสเซียต้องการให้ส่งลิตวินอฟเป็นผู้ร้ายข้ามแดน แต่รัฐมนตรียุติธรรมฝรั่งเศสกลับตัดสินใจเนรเทศลิตวินอฟและอนุภรรยาจากแผ่นดินฝรั่งเศสแทน[41] ความล้มเหลวที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนทำให้รัฐบาลรัสเซียโกรธ[41] รัฐบาลฝรั่งเศสแถลงอย่างเป็นทางการระบุว่า คำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนของรัสเซียนั้นมาช้าเกินไป แต่หลักฐานบางชิ้นได้พิจารณาว่ารัฐบาลฝรั่งเศสปฏิเสธการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเนื่องจากพวกสังคมนิยมฝรั่งเศสได้กดดันทางการเมืองเพื่อให้ปล่อยตัวลิตวินอฟ[41]
นาเดซฮดา ครุปสกายา ภรรยาของเลนิน อภิปรายถึงเหตุการณ์ดังกล่าวในบันทึกความทรงจำของเธอว่า
“ | เงินที่ได้จากการปล้นที่ติฟลิสถูกส่งไปให้บอลเชวิคเพื่อจุดประสงค์ในการปฏิวัติ แต่ก็ไม่สามารถนำเงินนั้นไปใช้ได้ ทั้งหมดเป็นธนบัตร 500 รูเบิล ซึ่งจำเป็นจะต้องแลกย่อย แต่เราไม่สามารถแลกธนบัตรในรัสเซีย เพราะธนาคารจะมีรายการหมายเลขธนบัตรในกรณีเช่นนี้เสมอ... เงินเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งยวด ดังนั้น กลุ่มสหายจึงพยายามแลกธนบัตร 500 รูเบิลในเมืองต่างด้าวพร้อมๆ กันหลายเมืองหลังจากเรามาถึงไม่นาน... จีโตเมียร์สกีเตือนตำรวจเรื่องความพยายามแลกธนบัตรรูเบิลเหล่านั้น และผู้เกี่ยวข้องก็ถูกจับกุม สมาชิกของกลุ่มซูริก a Lett ถูกจับกุมในสตอกโฮล์ม และโอลกา ราวิช สมาชิกของกลุ่มเจนีวา ผู้ซึ่งเพิ่งกลับมาจากรัสเซีย ถูกจับกุมในมิวนิกพร้อมกับบอกดัสซาเรียนและโฮจามีเรียน ในเจนีวา เอ็น. เอ. เซมัชโก ถูกจับกุมหลังจากที่ได้รับโปสการ์ดฉบับหนึ่งซึ่งส่งมาจากหนึ่งในกลุ่มคนที่ถูกจับกุมแล้ว[43] | ” |
แบรกแมนอ้างว่าถึงแม้จะมีการจับกุมดังกล่าว เลนินยังคงพยายามแลกธนบัตร 500 รูเบิลต่อไปและทำการแลกเปลี่ยนธนบัตร 500 รูเบิลจำนวนหนึ่งกับหญิงนิรนามในมอสโกเป็นเงิน 10,000 รูเบิล[39] อย่างไรก็ตาม ตามข้อมูลของนีโคลาเอฟสกี หลังจากการจับกุมในเดือนมกราคม ค.ศ. 1908 แล้วเลนินก็ยุติความพยายามใดๆ ที่จะแลกธนบัตรเหล่านี้อีก อย่างไรก็ตาม บอกดานอฟและคราซินยังคงพยายามต่อไปอีกหลายครั้ง[7] ตามข้อมูลของนีโคลาเอฟสกี บอกดานอฟพยายามและล้มเหลวที่จะแลกเปลี่ยนธนบัตรในอเมริกาเหนือ ขณะที่คราซินประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนหมายเลขอนุกรมและแลกเปลี่ยนธนบัตรอีกเพิ่มเติม[7] ไม่นานหลังจากนั้น เพื่อนร่วมงานของเลนินได้เผาธนบัตร 500 รูเบิลทั้งหมดที่พวกเขายังครอบครองอยู่[7][44]
[แก้]การพิจารณาคดีคาโม
หลังจากที่คาโมถูกจับกุมในกรุงเบอร์ลินและกำลังรอคอยการพิจารณาคดี คาโมได้รับข้อความจากคราซินผ่านทางทนายความของเขา ออสการ์ โคฮ์น ซึ่งบอกให้คาโมแสร้งทำเป็นวิกลจริตเพื่อที่ว่าเขาจะได้รับการประกาศว่าไม่เหมาะสมที่จะรับการพิจารณาคดี[45] เพื่อแสดงออกซึ่งความวิกลจริต คาโมปฏิเสธอาหาร ฉีกทึ้งเสื้อผ้า ผม ตลอดจนพยายามอัตวินิบาตกรรมโดยการแขวนคอตนเอง เฉือนข้อมือตัวเอง และกินอุจจาระของตน[46][47][48] เพื่อที่จะตรวจสอบให้แน่ใจว่าคาโมไม่ได้แสร้งวิกลจริต แพทย์ชาวเยอรมันได้แทงเข็มหมุดเข้าใต้เล็บ แทงเข็มเล่มยาวเข้าที่หลัง และจี้ด้วยเตารีดร้อน ๆ แต่คาโมยังไม่หลุดจากการแสดงของตน[47][49] หลังจากการทดสอบดังกล่าวทั้งหมดแล้ว หัวหน้าแพทย์แห่งโรงพยาบาลจิตเวชกรุงเบอร์ลิน เขียนเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1909 ว่า "ไม่มีหลักฐานสนับสนุนความเชื่อที่ว่า [คาโม] กำลังแสร้งวิกลจริต เขามีการเจ็บป่วยทางจิตอย่างไม่ต้องสงสัย และไม่สามารถที่จะปรากฏตัวต่อหน้าศาล หรือได้รับโทษตามกฎหมาย มันเป็นที่น่าสงสัยอย่างยิ่งว่าเขาจะสามารถฟื้นฟูได้อย่างสมบูรณ์หรือเปล่า"[50]
ค.ศ. 1909 คาโมถูกส่งตัวข้ามแดนไปยังรัสเซียที่ซึ่งเขายังคงแสร้งวิกลจริตต่อไป[38][51] ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1910 คาโมถูกพิจารณาคดีเนื่องจากบทบาทในการปล้นธนาคารติฟลิส[52] ระหว่างการพิจารณาคดี คาโมยังคงแสร้งวิกลจริตโดยไม่สนใจการสืบสวนและให้อาหารนกเลี้ยงอย่างเปิดเผยซึ่งเขาแอบนำเข้ามาด้วยโดยซ่อนไว้ในเสื้อของตน[52] การพิจารณาคดีหยุดชะงักไปขณะที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบอาการวิกลจริตของคาโม[52][53] ศาลพบว่าเขามีจิตปรกติเมื่อเขาปล้นธนาคารที่ติฟลิส แต่ขณะนี้กลับมีอาการป่วยทางจิตและควรจะถูกกักกันตัวจนกว่าเขาจะหาย[54]
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1911 หลังจากแสร้งวิกลจริตมากว่าสามปี คาโมหลบหนีจากแผนกจิตเวชของเรือนจำในติฟลิสโดยเลื่อยผ่านลูกกรงหน้าต่างของเขาและปีนลงมาด้วยเชือกทำเอง[38][51][55]
ภายหลัง คาโมได้บอกเล่าถึงประสบการณ์ในการแสร้งวิกลจริตมาเป็นเวลานานกว่าสามปีว่า
“ | สิ่งที่ผมสามารถบอกคุณได้หรือ พวกเขาข่มขู่ผม ตีผมที่ขาและอื่น ๆ ชายคนหนึ่งบังคับให้ผมมองเข้าไปในกระจก สิ่งที่ผมเห็นนั้นไม่ใช่ภาพสะท้อนของตัวผมเอง แต่เป็นคนคล้ายลิงผอม ๆ น่าสยดสยองและน่าเกลียดน่ากลัว กำลังบดฟัน ผมคิดกับตัวเองว่า 'บางทีฉันอาจจะเป็นบ้าไปแล้วจริง ๆ!' มันเป็นช่วงเวลาที่เลวร้าย แต่ผมสำรวมใจไว้และถ่มน้ำลายเข้าใส่กระจก คุณรู้ไหมผมคิดว่าพวกเขาชอบแบบนั้น....ผมคิดหนักเลยว่า 'ฉันจะรอดชีวิตหรือฉันจะกลายเป็นบ้าจริง ๆ' ซึ่งนั่นไม่ดีเลย ผมไม่มีศรัทธาในตัวเอง เห็นไหม .... [ทางการ] แน่นอนว่า รู้งานของตัวเองดี พวกเขารู้ศาสตร์ของตัวเอง แต่พวกเขาไม่รู้จักชาวคอเคซัส บางทีชาวคอเคซัสทุกคนอาจเป็นบ้า เท่าที่พวกเขารู้น่ะนะ เอาละ แล้วใครจะทำให้ใครเป็นบ้ากันล่ะ ไม่มีอะไรคืบหน้า พวกเขายึดมั่นกับความคิดของเขา และผมก็ยึดมั่นของผม พวกเขาไม่ได้ทรมานผมที่ติฟลิส ดูเหมือนพวกเขาคิดว่าชาวเยอรมันทำอะไรก็ไม่ผิด[56] | ” |
หลังจากหลบหนี คาโมพบกับเลนินในปารีส[44] คาโมรู้สึกกังวลใจที่ได้ยินว่า "มีการแตกแยกเกิดขึ้น" ระหว่างเลนิน บอกดานอฟ และคราซิน[44] คาโมเล่าให้เลนินฟังถึงการจับกุมตัวเขาและที่ว่าเขาแสร้งทำเป็นวิกลจริตอย่างไรขณะที่อยู่ในเรือนจำ[44] หลังจากออกจากปารีส คาโมได้พบกับคราซินและวางแผนที่จะก่อการปล้นด้วยอาวุธอีกครั้งหนึ่ง[38] คาโมถูกจับกุมก่อนหน้าที่จะเกิดการปล้นและถูกนำตัวขึ้นศาลในติฟลิสเมื่อ ค.ศ. 1913 จากความผิดซึ่งรวมไปถึงการปล้นธนาคารติฟลิส[57][38][58] ขณะนี้ระหว่างที่ถูกจองจำ คาโมมิได้แสร้งวิกลจริตแต่เขาแสร้งทำเป็นว่าลืมทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับเขาระหว่างที่เขาเคย "บ้า" มาก่อน[58] การพิจารณาคดีกินเวลาสั้นๆ และคาโมถูกพิพากษาลงโทษประหารชีวิตจำนวนสี่กระทง[59]
ขณะที่ดูเหมือนว่าต้องตายแน่ๆ แต่แล้วคาโมกลับมีโชคดีเช่นกันกับบรรดานักโทษคนอื่น ๆ เขาได้รับการลดหย่อนโทษเป็นการจำคุกระยะเวลานานแทนอันเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองครบรอบสามศตวรรษของราชวงศ์โรมานอฟ[38][60] คาโมได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำหลังการปฏิวัติกุมภาพันธ์ใน ค.ศ. 1917[38][61]
[แก้]ผลที่ตามมา
แม้ว่าผู้ก่อการรายสำคัญนอกเหนือไปจากคาโมไม่ได้ถูกนำตัวมาพิจารณาคดี ความอื้อฉาวของการปล้นได้มีผลกระทบอย่างสำคัญต่อการเมืองภายในของทั้ง RSDLP และกลุ่มบอลเชวิคเอง[62]
ในตอนแรกยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าใครอยู่เบื้องหลังการปล้นดังกล่าว แต่หลังจากการจับกุมคาโม ลิตวินอฟและคนอื่น ๆ ความเชื่อมโยงของบอลเชวิคก็ได้ปรากฏเด่นชัด[7] หลังจากที่ค้นพบว่าบอลเชวิคมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล้นดังกล่าว เมนเชวิครู้สึกว่าถูกหักหลังและโกรธ เหตุการณ์ดังกล่าวบ่งบอกว่าศูนย์บอลเชวิคดำเนินการเป็นอิสระจากคณะกรรมการกลางร่วมและกระทำการอันถูกห้ามอย่างชัดเจนจากสภาพรรค[7] ผู้นำของเมนเชวิค จอร์จี เปลฮานอฟ เรียกร้องให้แยกตัวออกจากบอลเชวิค ผู้ร่วมงานของเปลฮานอฟ จูลีอุส มาร์ตอฟ เรียกศูนย์บอลเชวิคว่าเป็นอะไรสักอย่างระหว่างคณะกรรมการกลางมุ้งลับและแก๊งอาชญากร[7]คณะกรรมการติฟลิสของพรรคได้ขับสมาชิกพรรคหลายคน รวมทั้งสตาลิน จากการปล้นดังกล่าว และสมาชิกพรรคหลายคนได้สืบสวนเลนินและคนอื่น ๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว[62][63] อย่างไรก็ตาม การสืบสวนภายในเหล่านี้ได้ถูกยับยั้งโดยบอลเชวิค ซึ่งทำให้ผู้สืบสวนไม่สามารถบรรลุเป้าหมายใด ๆ ได้[7]
การปล้นดังกล่าวทำให้บอลเชวิคยิ่งเสื่อมความนิยมในสังคมจอร์เจียมากยิ่งขึ้นไปอีก และทิ้งให้สมาชิกบอลเชวิคในติฟลิสไร้ซึ่งผู้นำที่มีประสิทธิผล หลังจากการปล้นและการเสียชีวิตของภรรยาในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1907 สตาลินเดินทางกลับไปติฟลิสน้อยครั้งมาก ส่วนผู้นำบอลเชวิคคนอื่น ๆ ในจอร์เจีย อย่างเช่น มิฮาอิล ซฮาคายา และฟิลิปป์ มาฮารัดเซ ได้ตามรอยเดียวกันและอาศัยอยู่นอกประเทศจอร์เจียเป็นส่วนใหญ่นับตั้งแต่ ค.ศ. 1907 ส่วนบุคคลสำคัญอื่น ๆ ในหมู่บอลเชวิคติฟลิส สเตฟาน ชาฮุมยันย้ายไปยังบาคู ซึ่งทำให้เมนเชวิคจอร์เจีย พรรคคู่แข่งที่นิยมสังคมประชาธิปไตย ไม่มีคู่แข่งตัวฉกาจอีกต่อไป ต่อมาเมนเชวิคได้ปกครองจอร์เจียระหว่างที่ได้รับเอกราชช่วงสั้น ๆ ตั้งแต่ ค.ศ. 1918 ถึง 1921[64]
นอกเหนือจากผลร้ายที่เกิดขึ้นภายในพรรค การปล้นยังทำให้ศูนย์บอลเชวิคไม่เป็นที่นิยมในกลุ่มสังคมประชาธิปไตยทั่วทวีปยุโรป[7] ความต้องการของเลนินที่จะอยู่ห่างจากผลกระทบของการปล้นอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของความแตกร้าวระหว่างเขากับบอกดานอฟและคราซิน[7] ผลที่ตามมาคือ สตาลินแยกตัวออกจากแก๊งของคาโมและไม่ประกาศบทบาทของตนในการปล้นอีกเลย[62][65]
หลังการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1917 บอลเชวิคหลายคนที่มีส่วนในการปล้นได้รับอำนาจทางการเมืองในสหภาพโซเวียตซึ่งเพิ่งจะถูกตั้งใหม่ เลนินกลายมาเป็นผู้นำคนแรกของสหภาพโซเวียต หลังจากถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1924 สตาลินได้สืบทอดตำแหน่งผู้นำสหภาพโซเวียตจนกระทั่งเขาถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1953 มาซิม ลิตวินอฟได้เป็นเจ้าหน้าที่การทูตของโซเวียต และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (1930-39) เลโอนิด คราซินแต่เดิมเคยไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหลังจากแตกแยกกับเลนินใน ค.ศ. 1909 แต่ภายหลังได้กลับเข้าร่วมกับบอลเชวิคอีกครั้งหนึ่งหลังการปฏิวัติและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีการค้าต่างประเทศ
อเล็กซานเดอร์ บอกดานอฟ และคาโมได้รับความสำคัญน้อยกว่า บอกดานอฟถูกขับออกจากพรรคใน ค.ศ. 1909 เนื่องมาจากการแสดงออกซึ่งความแตกต่างทางปรัชญา หลังจากการปฏิวัติบอลเชวิค เขากลายมาเป็นผู้นำนักลัทธิโปรเลตคุลท์ องค์การซึ่งออกแบบมาเพื่อสนับสนุนวัฒนธรรมชนชั้นกรรมาชีพใหม่ คาโม หลังจากถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำและการก่อตั้งสหภาพโซเวียต ทำงานในสำนักงานศุลกากรโซเวียต บางส่วนเป็นเพราะเขามีจิตใจไม่มั่นคงเกินกว่าจะทำงานเป็นตำรวจลับได้[38] คาโมเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนใน ค.ศ. 1922 เมื่อรถบรรทุกชนเขาขณะที่กำลังปั่นจักรยานอยู่[38] ถึงแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานพิสูจน์ แต่บางคนตั้งทฤษฎีว่าการเสียชีวิตของคาโมไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เป็นคำสั่งตายของสตาลิน[66][67]
จัตุรัสเยเรวาน ที่ซึ่งเกิดการปล้นขึ้น ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นจัตุรัสเลนินโดยทางการโซเวียตใน ค.ศ. 1921 และรูปปั้นเลนินขนาดใหญ่ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติใน ค.ศ. 1956[68][69] ยิ่งไปกว่านั้น คาโม ชายผู้ซึ่งถูกพิพากษาว่ามีความผิดและถูกตัดสินประหารชีวิตจากการปล้นในจัตุรัสนั้น ร่างถูกฝังและมีการตั้งอนุสาวรีย์ขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่เขาในสวนปุสกิน ใกล้กับจัตุรัสเยเรวาน[62][70] อนุสาวรีย์ของคาโมในภายหลังถูกย้ายออกไปในสมัยสตาลินและร่างของเขาถูกย้ายไปที่อื่น[67]อนุสาวรีย์เลนินถูกทลายลงในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1991 ในช่วงเดือนสุดท้ายของสหภาพโซเวียต และแทนที่ด้วยอนุสาวรีย์เสรีภาพเมื่อ ค.ศ. 2006 ชื่อของจัตุรัสถูกเปลี่ยนจากจัตุรัสเลนินเป็นจัตุรัสเสรีภาพใน ค.ศ. 1991[68][71]
[แก้]เชิงอรรถ
- a แหล่งข้อมูลบางแหล่งระบุว่าการปล้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 1907[5][27] ขณะที่แหล่งข้อมูลอื่นระบุว่าการปล้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1907[25][72] ความคลาดเคลื่อนนี้เป็นเพราะว่าบางแหล่งได้ระบุวันที่ตามปฏิทินจูเลียนแบบเก่า ในขณะที่แหล่งข้อมูลบางแหล่งได้ใช้ตามปฏิทินเกรโกเรียน รัฐบาลรัสเซียได้ใช้ปฏิทินจูเลียนจนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1918 เมื่อได้มีการเปลี่ยนไปใช้ปฏิทินเกรโกเรียน ซึ่งปีนั้นวันต่อจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1918 จะเป็นวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1918[73] สำหรับจุดประสงค์ของบทความนี้ วันที่จะถูกระบุตามปฏิทินเกรโกเรียน
[แก้]อ้างอิง
- ^ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 Kun 2003, p. 75
- ^ 2.0 2.1 Trotsky 2009, Chapter IV: The period of reaction
- ^ Geifman, Anna (1993). Thou Shalt Kill: Revolutionary Terrorism in Russia, 1894-1917. Princeton University Press, Princeton, NJ.ISBN 0691087784. http://books.google.com/books/princeton?id=U_SU7fxj9BMC&printsec=frontcover#v=onepage&q&f=false. เรียกข้อมูลเมื่อ 2010-12-23.
- ^ 4.0 4.1 4.2 4.3 Sebag-Montefiore 2008, pp. 3–4
- ^ 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 5.6 5.7 Brackman 2000, p. 58
- ^ 6.0 6.1 6.2 Ulam 1998, pp. 262–263
- ^ 7.00 7.01 7.02 7.03 7.04 7.05 7.06 7.07 7.08 7.09 7.10 7.11 7.12 7.13 7.14 7.157.16 Nicolaevsky, Boris (1995). On the history of the Bolshevist Center, in: Secret pages of history, Ed. Yu. G. Felshtinsky. Humanities Publishing, Moscow, 1995. ISBN 5-87121-007-4.http://lib.ru/HISTORY/FELSHTINSKY/tajnye_stranicy.txt. เรียกข้อมูลเมื่อ 2010-12-10.
- ^ 8.0 8.1 8.2 8.3 Souvarine 2005, pp. 94
- ^ Souvarine 2005, pp. 91–92
- ^ Sebag-Montefiore 2008, pp. 4–5
- ^ 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 11.5 11.6 11.7 Sebag-Montefiore 2008, pp. 6–7
- ^ 12.0 12.1 12.2 12.3 Sebag-Montefiore 2008, p. 4
- ^ 13.0 13.1 Sebag-Montefiore 2008, p. 165
- ^ 14.0 14.1 14.2 14.3 14.4 14.5 14.6 14.7 14.8 Sebag-Montefiore 2008, p. 11
- ^ 15.0 15.1 15.2 Kun 2003, pp. 77–78
- ^ 16.0 16.1 16.2 16.3 16.4 16.5 16.6 16.7 16.8 Sebag-Montefiore 2008, p. 8
- ^ Sebag-Montefiore 2008, p. 178
- ^ 18.0 18.1 18.2 18.3 18.4 18.5 18.6 Brackman 2000, p. 60
- ^ 19.0 19.1 Shub 1960, p. 231
- ^ Sebag-Montefiore 2008, p. 5
- ^ 21.00 21.01 21.02 21.03 21.04 21.05 21.06 21.07 21.08 21.09 21.10 21.11 21.1221.13 21.14 21.15 21.16 21.17 Brackman 2000, p. 59
- ^ Brackman 2000, pp. 58–59
- ^ Sebag-Montefiore 2008, p. 127
- ^ Kun 2003, p. 76
- ^ 25.0 25.1 25.2 25.3 25.4 "BOMB KILLS MANY; $170,000 CAPTURED",The New York Times, The New York Times, 1907-06-27. สืบค้นวันที่ 2010-11-30
- ^ 26.0 26.1 26.2 26.3 Sebag-Montefiore 2008, p. 9
- ^ 27.0 27.1 Shub 1960, p. 227
- ^ 28.0 28.1 28.2 28.3 28.4 28.5 28.6 28.7 28.8 28.9 Sebag-Montefiore 2008, p. 13
- ^ 29.0 29.1 29.2 29.3 29.4 29.5 29.6 29.7 29.8 Sebag-Montefiore 2008, p. 12
- ^ 30.00 30.01 30.02 30.03 30.04 30.05 30.06 30.07 30.08 30.09 30.10 Sebag-Montefiore 2008, p. 14
- ^ 31.0 31.1 Kun 2003, pp. 73–75
- ^ Был ли Сталин агентом охранки? (Was Stalin an Okhrana agent?) A collection of publications and documents - Compiled and edited by Yuri Felshtinsky, ed., in Russian. Terra. 1999. ISBN 5-300-02417-1. http://lib.ru/HISTORY/FELSHTINSKY/stalin_3.txt. เรียกข้อมูลเมื่อ 2010-12-19.
- ^ Sebag-Montefiore 2008, pp. 14, 87
- ^ Brackman 2000, p. 61
- ^ 35.0 35.1 35.2 35.3 35.4 35.5 Brackman 2000, p. 62
- ^ 36.0 36.1 36.2 Krupskaya 1970, Chapter:Again Abroad – End of 1907
- ^ Sebag-Montefiore 2008, p. 181
- ^ 38.0 38.1 38.2 38.3 38.4 38.5 38.6 38.7 38.8 Ulam 1998, pp. 279–280
- ^ 39.0 39.1 Brackman 2000, p. 64
- ^ 40.0 40.1 "Held As Tiflis Robbers", The New York Times, The New York Times, 1908-01-19. สืบค้นวันที่ 2010-11-30
- ^ 41.0 41.1 41.2 41.3 41.4 Brackman 2000, pp. 63–64
- ^ "Alleged Nihilists Arrested In Paris; Russian Students, Man and Woman, Suspected of Many Political Crimes. LIVED IN LATIN QUARTER Their Rooms Rendezvous for Revolutionists – Believed That They Planned Assassinations", The New York Times, The New York Times, 1908-02-08. สืบค้นวันที่ 2010-12-02
- ^ Krupskaya 1970, Chapter:Years of Reaction – Geneva – 1908
- ^ 44.0 44.1 44.2 44.3 Krupskaya 1970, Chapter:Paris – 1909–1910
- ^ Souvarine 2005, p. 101
- ^ Brackman 2000, p. 55
- ^ 47.0 47.1 Souvarine 2005, pp. 101–102
- ^ Shub 1960, p. 234
- ^ Shub 1960, pp. 236–37
- ^ Shub 1960, p. 237
- ^ 51.0 51.1 Souvarine 2005, p. 102
- ^ 52.0 52.1 52.2 Shub 1960, p. 238
- ^ Brackman 2000, pp. 57–58
- ^ Shub 1960, p. 239
- ^ Brackman 2000, p. 67
- ^ Shub 1960, pp. 246−247
- ^ Souvarine 2005, pp. 103
- ^ 58.0 58.1 Shub 1960, p. 244
- ^ Shub 1960, pp. 244–45
- ^ Shub 1960, p. 245
- ^ Shub 1960, p. 246
- ^ 62.0 62.1 62.2 62.3 Sebag-Montefiore 2008, p. 15
- ^ Souvarine 2005, p. 99
- ^ Stephen F. Jones 2005, pp. 220–221
- ^ Kun 2003, p. 77
- ^ Brackman 2000, p. 33
- ^ 67.0 67.1 Sebag-Montefiore 2008, p. 370
- ^ 68.0 68.1 Burford 2008, p. 113
- ^ "Communist Purge of Security Chiefs Continues", The Sydney Morning Herald, The Sydney Morning Herald, 1953-07-17, หน้า 1. สืบค้นวันที่ 2010-12-02
- ^ "USSR information bulletin". USSR information bulletin 6 (ฉบับที่ 52–67): 15. 1946. http://books.google.com/books?id=j0PTAAAAMAAJ&q=kamo+%22pushkin+square%22&dq=kamo+%22pushkin+square%22&hl=en&ei=Kuj3TL62B8GclgeZn-mKAg&sa=X&oi=book_result&ct=result&resnum=6&ved=0CDoQ6AEwBQ. เรียกข้อมูลเมื่อ 2010-12-03.
- ^ Remnick, David. "The Day Lenin Fell On His Face; In Moscow, the Icons Of Communism Are Toppling", The Washington Post, The Washington Post, 1990-07-05. สืบค้นวันที่ 2010-12-02
- ^ Sebag-Montefiore 2008, p. 3
- ^ Christian 1997, p. 6
[แก้]บรรณานุกรม
- Brackman, Roman (29 Sep 2000). "Chapter 7 – The Great Tiflis Bank Robbery". The Secret File of Joseph Stalin: a Hidden Life. Portland, Oregon: Psychology Press. pp. 58–66. ISBN 0714650501. http://books.google.com/books?id=zQL8POkFGIQC&pg=PA58&lpg=PA58&dq=russia+tiflis+%22bank+robbery%22&source=bl&ots=3Rqun5BKLE&sig=h9aKmzX3C7iPXn_ZFII2qDVjQUY&hl=en&ei=MqiGTIGkFMOBlAe0vKnbDw&sa=X&oi=book_result&ct=result&resnum=1&ved=0CBcQ6AEwAA#v=onepage&q=russia%20tiflis%20%22bank%20robbery%22&f=false. เรียกข้อมูลเมื่อ 2010-11-12.
- Burford, Tim (2008). Georgia. Bradt Travel Guides. p. 113. ISBN 1841622613. http://books.google.com/books?id=qQ6R4Fg6rh4C&pg=PA113&dq=%22Lenin+Square%22+%22freedom+square%22+%22Yerevan+Square%22&hl=en&ei=YgD1TIyeLYWKlwfRpYTuBQ&sa=X&oi=book_result&ct=result&resnum=1&ved=0CCcQ6AEwAA#v=onepage&q=%22Lenin%20Square%22%20%22freedom%20square%22%20%22Yerevan%20Square%22&f=false. เรียกข้อมูลเมื่อ 2010-11-30.
- Christian, David (1997). "Introduction". Imperial and Soviet Russia: power, privilege, and the challenge of modernity. New York City, New York: Palgrave Macmillan. p. 6. ISBN 0312173520. http://books.google.com/books?id=U8QG2BnQORkC&pg=PA6&dq=gregorian+calendar+julian+calendar+russia+february+1918&hl=en&ei=LA_3TM2wCYP58Aa5xPSLCQ&sa=X&oi=book_result&ct=result&resnum=4&ved=0CDwQ6AEwAw#v=onepage&q=gregorian%20calendar%20julian%20calendar%20russia%20february%201918&f=false. เรียกข้อมูลเมื่อ 2010-12-02.
- Geifman, Anna (1993). Thou Shalt Kill: Revolutionary Terrorism in Russia, 1894–1917. Princeton, New Jersey: Princeton University Press. ISBN 0691087784. http://books.google.com/books/princeton?id=U_SU7fxj9BMC&printsec=frontcover#v=onepage&q&f=false. เรียกข้อมูลเมื่อ 2010-12-23.
- Jones, Stephen F. (2005). Socialism in Georgian Colors: The European Road to Social Democracy, 1883–1917. Cambridge, Massachusetts: Harvard University Press. pp. 220–221. ISBN 0674019024. http://books.google.com/books?id=srEzMdMN-z0C&lpg=PA169&dq=stephen%20jones%20georgian%20socialism&pg=PA220#v=onepage&q&f=false. เรียกข้อมูลเมื่อ 2011-01-02.
- Krupskaya, Nadezhda (1970). Reminiscences of Lenin. http://www.marxists.org/archive/krupskaya/works/rol/index.htm. เรียกข้อมูลเมื่อ 2010-12-10.
- Kun, Miklós (2003). "Chapter 5 – Why Stalin was called a "Mail-Coach Robber"". Stalin: an unknown portrait. New York City, New York: Central European University Press. pp. 74–80. ISBN 9639241199. http://books.google.com/books?id=cnGQl1fWE-wC&pg=PA75&dq=russia+tiflis+bank+robbery+stalin&hl=en&ei=xQbeTKLSJMH-8Abnv6iZDw&sa=X&oi=book_result&ct=result&resnum=5&ved=0CEEQ6AEwBA#v=onepage&q=russia%20tiflis%20bank%20robbery%20stalin&f=false. เรียกข้อมูลเมื่อ 2010-11-29.
- Nicolaevsky, Boris (1995) (ในภาษาRussian). On the history of the Bolshevist Center, in: Secret pages of history, Ed. Yu. G. Felshtinsky. Moscow: Humanities Publishing. ISBN 5-87121-007-4. http://lib.ru/HISTORY/FELSHTINSKY/tajnye_stranicy.txt. เรียกข้อมูลเมื่อ 2010-12-10.
- Sebag-Montefiore, Simon (2008). "Prologue:The Bank Robbery". Young Stalin. New York City, New York: Random House, Inc. pp. 3–18.ISBN 1400096138. http://books.google.com/books?id=Jrkl5e1joNMC&printsec=frontcover&dq=Young+Stalin+beginning&source=bl&ots=kNyaoVLArg&sig=fY0xq3pRwPOGFBAqK3TC-SQxKGU&hl=en&ei=eOfjTISwGMb_lgfqw8GJDw&sa=X&oi=book_result&ct=result&resnum=2&ved=0CCIQ6AEwAQ#v=onepage&q=prologue&f=false. เรียกข้อมูลเมื่อ 2010-11-17.
- Shub, David (1960-07). "Kamo-the Legendary Old Bolshevik of the Caucasus". Russian Review 19, (ฉบับที่ 3): 227–247.http://www.jstor.org/pss/126539. เรียกข้อมูลเมื่อ 2010-12-07.
- Souvarine, Boris (2005). "Chapter IV – A Professional Revoluationary". Stalin: A Critical Survey of Bolshevism. New York City, New York: Kessinger Publishing. pp. 92–106. ISBN 9781419113079. http://books.google.com/books?id=5F9eL9C2QzEC&pg=PA97&lpg=PA97&dq=kamo+pushkin+square&source=bl&ots=r8A0fuoLdI&sig=QD0laGKC0IL3oBg3lRyHM5TjG88&hl=en&ei=cOb3TM3qFsP6lwfy_YWQAg&sa=X&oi=book_result&ct=result&resnum=5&ved=0CDEQ6AEwBA#v=onepage&q=kamo%20pushkin%20square&f=false. เรียกข้อมูลเมื่อ 2010-12-10.
- Trotsky, Leon (2009). "Chapter IV: The period of reaction". Stalin – An Appraisal of the man and his influence, edited and translated from the Russian by Charles Malamuth. London: Marxists Internet Archive. ISBN 0261620762.http://www.marxists.org/archive/trotsky/1940/xx/stalin/index.htm. เรียกข้อมูลเมื่อ 2010-12-19.
- Ulam, Adam (1998). "The Years of Waiting: 1908–1917". The Bolsheviks: the intellectual and political history of the triumph of communism in Russia. Cambridge, Massachusetts: Harvard University Press. pp. 279–280. ISBN 0674078306.http://books.google.com/books?id=TdCK1WkconkC&pg=PA279&lpg=PA279&dq=Kamo+bolshevik&source=bl&ots=UNfDv9yR76&sig=YUVL37vTlkuaR1EG4VHk3FFLgxQ&hl=en&ei=W1jtTJKFJ4L6lwelmc39AQ&sa=X&oi=book_result&ct=result&resnum=10&ved=0CD8Q6AEwCQ#v=onepage&q=Kamo%20bolshevik&f=false. เรียกข้อมูลเมื่อ 2010-11-29.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น