วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

"ทักษิณ" คิดรัฐบาลตั้งโต๊ะรับจำนำการเมืองรวยประเทศล่มจม


ถึงขณะนี้สถานการณ์ “รับจำนำพืชผลทางการเกษตร” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการดำเนินนโยบายดูแลราคาสินค้าเกษตร พืชผลการเกษตรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ได้พ่นพิษใส่รัฐบาลย่ำแย่ลงทุกวัน
เพราะเป้าหมายของการจำนำพืชผลทางการเกษตรที่สำคัญเพียงอย่างเดียวของรัฐบาล คือ การทำให้ราคาพืชผลทางการเกษตรสูงกว่าความเป็นจริง เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น เพื่อผลคะแนนนิยมทางการเมืองเท่านั้น
แต่การดำเนินการ “เป็นเจ้าภาพของรัฐบาลในการตั้งโต๊ะรับจำนำ” ได้สร้างปัญหาให้กับรัฐบาลหนักมากกว่าที่หลายคนคิด
ชนิดที่ยิ่งเดินหน้ายิ่งเสียหายมากขึ้นเท่านั้น เพราะพืชผลทางการเกษตรที่อยู่ในมือของรัฐบาลมีจำนวนมากมหาศาล ไม่สามารถบริหารจัดการที่จะระบายสินค้าที่จำนำเข้ามาให้ได้ราคาสูงกว่า หรือเท่ากับที่รับจำนำเข้ามาได้
ปรากฏการณ์ที่เห็นอยู่ตอนนี้ คือ รัฐบาลอยู่ในภาวะเจ๊งแล้วเจ๊งอีก
หากลงไปดูการรับจำนำพืชผลรายตัว พระเอกตัวร้ายหนีไม่พ้นนโยบายรับจำนำข้าวทุกเมล็ด ที่เพียงรอบแรกรัฐบาลจำนำข้าวรวมแล้วถึง 20 ล้านตันข้าวเปลือก ใช้เงินไปถึง 4 แสนล้านบาท
แต่ปรากฏว่าการระบายข้าวที่ผ่านมามีปัญหามาก ข้าวที่รับจำนำเข้ามาราคาสูงกว่าตลาดเกือบเท่าตัว ทำให้รัฐบาลขายข้าวเมื่อไรขาดทุนเมื่อนั้น ยิ่งสำคัญขายช้าเท่าไรยิ่งขาดทุนมากขึ้นไปอีก
ขณะที่การจำนำมันสำปะหลัง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ใช้เงินรับจำนำไปแล้วถึง 3 หมื่นล้านบาท เป็นมันสำปะหลังถึง 10 ล้านตัน แต่ราคามันก็ยังไม่กระเตื้องขึ้นมาสูงกว่ากิโลกรัมละ 3 บาทได้
เช่นเดียวกับการเข้าแทรกแซงราคายางพารา ธ.ก.ส. ให้เงินหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับยางไปแทรกแซงราคากว่า 1.1 หมื่นล้านบาท ก็ไม่เป็นผล ขณะที่รัฐบาลอนุมัติงบประมาณอีก 3 หมื่นล้านบาท เพื่อเข้าดูแลราคายาง แต่ก็ปรากฏว่ายังเอาไม่อยู่ ราคายางพารายังย่ำอยู่ที่กิโลกรัมละ 70 บาทต้นๆ จากที่ก่อนหน้านี้ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท
ทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงภาระที่หนักอึ้งในการแบกสต๊อกพืชผลต่างๆ จำนวนมากมายก่ายกอง ที่สำคัญต้องใช้เงินไปแล้วรวมครึ่งล้านล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 4 ของงบประมาณรายจ่ายของประเทศปีล่าสุด
ผลที่ตามมาอย่างหลีกหนีไม่ได้ คือ ภาระการคลังของประเทศที่มีปัญหาถังแตก แม้ว่าตอนนี้ตัวเลขยังเห็นไม่ชัด เพราะส่วนหนึ่งยังมีรายได้เข้ามาบังตาไว้ และหนี้บางส่วนถูกซุกไว้ใน ธ.ก.ส. ทำให้หนี้สาธารณะยังไม่เบ่งบานสะท้อนความเป็นจริง
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังตระหนักถึงวิกฤตปัญหาภาคการคลังที่กำลังคืบคลานเข้ามาใกล้ตัว เห็นได้จากข้อท้วงติงและข้อเสนอแนะถึง 2 ครั้ง ที่รายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบติดๆ กันในเดือน ก.ย. และเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา
หนังสือที่ส่งไปครั้งแรกลงชื่อ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.คลัง และครั้งต่อมาลงชื่อ ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง
จะเห็นว่า แม้รัฐมนตรีทั้งสองคนในทางการเมืองจะหนุนโครงการนี้แบบไม่ถอย แต่ในฐานะที่เป็นเจ้ากระทรวงเงินกระทรวงทองของประเทศ การรักษาวินัยทางการเงินการคลังของประเทศ เป็นเรื่องที่หนีความรับผิดชอบไม่ได้
หนังสือที่รายงานให้รัฐบาลรับทราบ มีเนื้อหาที่ใกล้เคียงกัน คือ “โครงการรับจำนำข้าวมีปัญหา” ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ หากจะดำเนินการรับจำนำข้าวรอบใหม่
หนังสือรายงาน ครม. ระบุว่า การรับจำนำข้าวรอบแรกใช้เงินไปแล้วถึง 4.08 แสนล้านบาท รอบใหม่ต้องใช้เงินอีก 4.05 แสนล้านบาท ทำให้ฐานะการคลังของประเทศมีปัญหา
โดยการจำนำรอบแรกเป็นการใช้เงินกู้จากกระทรวงการคลัง และ ธ.ก.ส. ทั้งหมด ทำให้การกู้รอบใหม่เริ่มมีปัญหาหากจะกู้รอบใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง
ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงกู้ให้โครงการรับจำนำข้าวรอบใหม่ได้ 1.5 แสนล้านบาทเท่านั้น เพื่อกันเงินกู้ไปใช้กับโครงการอื่นๆ ได้ใช้จ่ายอย่างไม่มีปัญหา

ปัญหาที่ตามมาคือ รัฐบาลจะหาเงินที่ขาดอยู่มาจากทางไหน การระบายข้าวเป็นทางแรกที่ควรทำ แต่การเร่งระบายข้าวมากเท่าไรรัฐบาลยิ่งขาดทุนมากเท่านั้น เท่ากับเป็นการประจานความล้มเหลวนโยบายนี้ของรัฐบาล ทำให้เป็นปัญหาที่ไม่กล้าระบายข้าวมาก ส่งผลให้ไม่มีเงินมาใช้รอบใหม่
เมื่อเป็นเช่นนั้น กระทรวงการคลังได้เสนอแนะว่า หากเงินไม่พอก็ให้ ธ.ก.ส. ไประดมเงินจากตลาดมาใช้ในโครงการนี้เอง หากไม่พออีกจะให้รัฐบาลกู้ให้ ธ.ก.ส. ก็ได้ แต่รัฐบาลจะไม่ค้ำประกัน เพราะไม่ต้องการให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีพุ่งเป็นจรวดเข้าสู่เขตอันตรายเกิน 60% ของจีดีพี
รายงานของกระทรวงการคลังยังมีข้อความยอมรับว่า โครงการรับจำนำมีการทุจริต ทั้งการสวมสิทธิข้าว การระบายข้าวที่ไม่โปร่งใสของกระทรวงพาณิชย์ หากดำเนินการรอบใหม่ ควรจะต้องแก้ปัญหาต่างๆ อย่างจริงจัง
ในรายงานยังมีปัญหาต่างๆ นานาอีกมากมาย ที่ได้เสนอให้รัฐบาลอุดรูรั่วของโครงการรับจำนำข้าวรอบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทำระบบตลาดเสียหาย ข้าวไทยขาดคุณภาพ เพราะชาวนาเอาแต่ปลูกให้ได้มากเข้าว่าเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาว่าการรับจำนำข้าวราคาสูงกว่าตลาด ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านที่ปลูกข้าวได้ประโยชน์ขายข้าวราคาสูง ล้วนเป็นปัญหาที่รัฐบาลแก้ไม่ได้ ก็ยิ่งเข้าเนื้อหนักเข้าไปมากเท่านั้น
ปัญหาร้อยแปดพันเก้าที่กระทรวงการคลังเสนอแนะ แถบไม่ต่างกับที่นักวิชาการ ฝ่ายค้านท้วงติงมาก่อนหน้านี้ ว่าโครงการรับจำนำได้ก่อหนี้ก้อนโต ชาวนาส่วนน้อยได้ประโยชน์ เกิดความเสียหายตามมาจำนวนมาก ทำลายระบบตลาด และข้าวไทยขาดคุณภาพ
ซึ่งว่าไปแล้วปัญหาดังกล่าว หากรัฐบาลไม่รีบดำเนินการแก้ไข มีการประเมินกันว่าในไม่ช้าประเทศจะเสียหายจนแก้ไขไม่ได้
ขนาด ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ออกมาวิจารณ์โครงการรับจำนำอย่างเผ็ดร้อนว่า การรับจำนำรอบแรก 21 ล้านตันนั้น จะทำให้รัฐบาลขาดทุนประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ทำให้หนี้สาธารณะของไทยขยับขึ้นเป็น 47.8% ของจีดีพี และการรับจำนำข้าวรอบใหม่ที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ 33 ล้านตัน ก็จะทำให้รัฐบาลขาดทุนอีก 2.1 แสนล้านบาท ทำให้หนี้สาธารณะของไทยในปี 2562 พุ่งสูงถึง 61% ของจีดีพี เกินกรอบความยั่งยืนทางการคลังของประเทศที่กำหนดไว้ 60% ของจีดีพี
ขณะที่ นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ชาวนา 3.8 ล้านราย ได้ประโยชน์เพียง 1 ล้านรายเท่านั้น ที่สำคัญโครงการรับจำนำมีการทุจริต ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำที่รัฐบาลทำเป็นมองไม่เห็นและไม่คิดจะแก้ไขหรือป้องกัน
ปัญหาการรับจำนำพืชผลทางการเกษตร ที่รัฐบาลตั้งโต๊ะเป็นเจ้าภาพตามแนวทาง “ทักษิณคิดเพื่อไทย” ทำให้กลายเป็นมะเร็งร้ายของเศรษฐกิจ หากรัฐบาลไม่เร่งแก้ไขจะทำให้ประเทศหายนะได้
ต้องไม่ลืมว่า ปัญหาประเทศกรีซและยุโรปเกิดจากการใช้จ่ายเกินตัวจนเสพติด ไปกู้เงินจำนวนมากมาใช้จ่าย จนสุดท้ายฝีแตกติดเชื้อรักษาไม่หายจนถึงทุกวันนี้
ซึ่งว่าไปแล้วประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่จุดนั้น เพราะลำพังโครงการรับจำนำข้าวโครงการเดียว ทำให้หนี้ประเทศบานฉ่ำอย่างรวดเร็ว และไม่มีท่าทีว่าจะลดลง เพราะรัฐบาลประกาศเดินหน้าไม่ถอย
นอกจากนี้ ปัญหาของโครงการรับจำนำข้าวที่รุนแรงไม่น้อยกว่าการสร้างหนี้ประเทศ คือ การทุจริตคอร์รัปชันของนายทุน นักการเมือง ที่มีแต่ต้นทางยันปลายทาง โดยทีดีอาร์ไอประเมินว่าตัวเลขการเสียหายข้าวทุก 1 แสนล้านบาท ไปถึงมือชาวบ้าน 1.7 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ที่เหลืออีก 8.3 หมื่นล้านบาท ตกอยู่ในมือของนักการเมือง นายทุนที่อิงแอบใกล้ชิดการเมือง ก็เป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องตอบว่าใครได้ประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าวมากกว่ากัน ระหว่างชาวนากับนายทุนนักการเมือง
ดังนั้น การดำเนินโครงการรับจำนำพืชผลทางการเกษตรจะหวังผลทางการเมือง ให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นและนักการเมืองนายทุนรวยขึ้น โดยที่ไม่คำนึงถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศ เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ
อย่างน้อยกระทรวงการคลังที่ออกหนังสือไปเตือนรัฐบาล ว่าโครงการรับจำนำมีปัญหา ก็ต้องมีมาตรการที่จะดำเนินการให้การใช้เงินเป็นไปอย่างคุ้มค่า และไม่รั่วไหลไปอยู่ในมือนักการเมืองและนายทุนมากกว่าชาวนา
หากกระทรวงการคลังแก้ไม่ได้ ประเทศคงหวังพึ่งใครให้มาดูแลรักษาเงินทองของประเทศต่อไปได้ยาก ดังนั้นกระทรวงการคลังก็ควรเสนอให้รัฐบาลยุบโครงการรับจำนำทันที เพราะความเสียหายและการทุจริตเอาไม่อยู่จริงๆ

    ไม่มีความคิดเห็น:

    แสดงความคิดเห็น